fbpx

ภาษีอีเพย์เมนต์ ใครที่ขายของออนไลน์อยู่ต้องรู้ไว้!

ภาษีอีเพย์เมนต์  ใครที่ขายของออนไลน์อยู่ต้องรู้ไว้!

ภาษี E-Payment หรือ ภาษีอีเพย์เมนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการนำส่งเงินภาษี ยื่นรายการหรือเอกสารที่เกี่ยวกับภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ระบุว่าเป็นการกำหนดให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ E-Wallet ต้องรายงานข้อมูลผู้มีบัญชีธุรกรรมเฉพาะให้กรมสรรพากรทราบ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา (พ่อค้าแม่ค้าธรรมดา) นิติบุคคล (ผู้ที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท) ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยบัญชีธุรกรรมเฉพาะจะต้องมีเงื่อนไข 2 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. มีฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้ง/ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีมูลค่ามาก หรือน้อยแค่ไหนก็ตาม
  2. มีการฝากหรือโอนรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาท/ปี

โดยยอดเงินเข้าบัญชีในที่นี้ จะประกอบไปด้วย ยอดเงินฝากเข้าบัญชีทุกประเภท ไม่ว่าจะมาจากช่องทางไหน เช่น เคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้ฝากเงิน i-Banking ช่องทางออนไลน์ การฝากเช็คเข้าบัญชี Auto Transfer ส่วนเครื่องรูดบัตร นับตามจำนวนครั้งที่รูด รวมไปถึงยอดเงินเข้าจากดอกเบี้ยรับหรือเงินปันผล หากคุณเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ สรรพากรจะได้รับข้อมูลของคุณตั้งแต่ เลขประจำตัวประชาชน ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัญชีเงินฝาก จำนวนครั้งของการฝากหรือโอนการรับเงิน และยอดรวมของการฝากหรือโอนรับเงิน

1. ภาษีอีเพย์เมนต์กระทบกับใครบ้าง?

  1. สถาบันการเงินและผู้ให้บริการ E-Wallet/Payment Gateway ทุกราย
  2. เพราะผู้ให้บริการเหล่านี้จะต้องมีหน้าที่รายงาน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
  3. เจ้าของบัญชีทุกคนที่มีธุรกรรมเข้าเงื่อนไขที่ได้กล่าวข้างต้น อาทิเช่น พ่อค้าแม่ค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ คนทำงานฟรีแลนซ์ ไรเดอร์ส่งอาหาร เป็นต้น
ภาษีอีเพย์เมนต์กระทบกับใครบ้าง?

2. หากเข้าเงื่อนไขภาษีอีเพย์เมนต์ต้องทำอย่างไร?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายอดเงินที่เข้าบัญชีทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการเสียภาษีทั้งหมดตามยอดที่เข้ามา ทั้งนี้กรมสรรพากรจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่น โดยที่เจ้าของบัญชีอย่างเรา จะต้องเตรียมหลักฐานการรับ-โอนเงินดังต่อไปนี้

  1. บุคคลธรรมดา ที่รับเงินตามปกติก็ไม่ต้องทำอะไร
  2. ผู้รับงานฟรีแลนซ์ ที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ต้องทำอะไร
  3. พ่อค้าแม่ค้าและร้านค้าที่จดทะเบียนการค้า จดทะเบียนVAT และมีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมจากปกติ
  4. พ่อค้าแม่ค้า หรือร้านค้าออนไลน์ที่ยังไม่เคยเสียภาษีมาก่อน แนะนำให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการแยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีที่ใช้ทำธุรกิจออกจากกัน และมีการเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงินไว้ให้หมด เพื่อเอาไว้ยื่นภาษี พร้อมทั้งยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง
  5. พ่อค้าแม่ค้าออฟไลน์และกิจการขนาดเล็กที่ยังไม่เคยเสียภาษีให้ถูกต้อง แนะนำให้จดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้อง เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แถมยังสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ หรือเสียภาษีจากกำไร ถ้าช่วงแรกยังไม่มีกำไรก็ยังไม่ต้องเสียภาษี
หากเข้าเงื่อนไขภาษีอีเพย์เมนต์ต้องทำอย่างไร?

จะเห็นว่าหากคุณเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีการรับเงินตามปกติ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติมอะไร รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าหรือฟรีแลนซ์ที่มีการยื่นภาษีอย่างถูกต้องอยู่แล้ว ก็แทบที่จะไม่ต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ซึ่งดูแล้วภาษีอีเพย์เมนต์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนเคยเข้าใจ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เคยมีการเสียภาษี ควรจะมีการจดทะเบียนให้ถูกต้องเสียก่อน หากค้าขายออนไลน์ก็ควรจะจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นการเปิดร้านค้าขายแบบออฟไลน์ ควรจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้อง และไม่ต้องกังวลว่าเพิ่งเปิดร้าน กำไรยังไม่ค่อยจะมีแต่กลับต้องมาเสียภาษีแล้ว เพราะในช่วงแรกที่คุณยังไม่มีกำไรในการประกอบกิจการ ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้หากคุณเข้าเงื่อนไขที่จะต้องมีการเสียภาษีอีเพย์เมนต์แล้ว เพื่อความสะดวกในการยื่นภาษีในอนาคต คุณควรจะมีการเตรียมตัวในเรื่องการทำบัญชี เพื่อช่วยให้ยื่นภาษีมีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยคุณควรจะเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย การทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด เก็บเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เพราะจะต้องนำไปใช้ในการยื่นภาษี ต่อมาคุณจะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของตนเอง รวมไปถึงมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ช่วยให้เห็นรายรับและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

เนื่องจากทุกคนที่มีรายได้รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านค้ามีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีทุกปีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ห้างร้านต่าง ๆ  สำหรับการเก็บ ภาษีอีเพย์เมนต์ จะเป็นการเก็บภาษีร้านค้าออนไลน์ โดยเป็นการแก้ไขปัญหาปิดช่องโหว่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ไม่เคยมีการเสียภาษีเลย ให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องนั่นเอง และยังเป็นการเพิ่มความสะดวกในการนำส่งเงินภาษี ยื่นรายการหรือเอกสารที่เกี่ยวกับภาษีอากรอีกด้วย สำหรับใครที่เข้าเงื่อนไขในการเสียภาษีอีเพย์เมนต์ อย่าลืมเตรียมตัวและเตรียมเอกสาร หลักฐานในการค้าขาย การทำธุรกรรมการเงินให้ดี เพราะจะต้องนำไปใช้เพื่อยื่นแบบเสียภาษีอีเพย์เมนต์ต่อไปค่ะ

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc

สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc

LINE OA: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc

Tel: 082-254-6831