fbpx

สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ

สินค้าคงเหลือ

สินค้าคงเหลือ หรือ (Inventory) คือสินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อขายในกิจการ ได้แก่ วัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า สินค้าระหว่างการผลิต สินค้าสำเร็จรูป สำหรับบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือกันค่ะ

สินค้าคงเหลือ หรือ Inventory คืออะไร?

สินค้าคงเหลือ หรือ Inventory คืออะไร

คือสินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อขายในกิจการ ได้แก่ วัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า สินค้าระหว่างการผลิต สินค้าสำเร็จรูป สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

1. วัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้า

วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป เช่น กิจการผลิตเสื้อผ้าส่งขาย จะต้องมีวัตถุดิบที่ใช้ผลิตตัดเย็บเสื้อผ้า ได้แก่ ผ้า เส้นด้าย กระดุม ซิป เป็นต้น หรือหากทำกิจการผลิตเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ก็ต้องมีวัตถุดิบจำพวกสารเคมี เพื่อนำมาใช้ผลิตเครื่องประทินผิว เป็นต้น

2. สินค้าระหว่างการผลิต/งานระหว่างทำ

สินค้าที่อยู่ระหว่างกระบวนการผลิตและระหว่างการผลิตสินค้า เช่น กิจการผลิตเสื้อผ้าขายส่งขาย จะมีสินค้าระหว่างกระบวนการผลิต นั่นก็คือ เส้นด้าย ที่กำลังทอออกมาจากเครื่องทอผ้าเพื่อทำออกมาเป็นตัวผ้า เป็น

3. สินค้าสำเร็จรูป

สินค้าที่ทำเสร็จสมบูรณ์พร้อมนำไปขายต่อได้เลย เช่น เสื้อผ้า เครื่องประทินผิว รถยนต์ เป็นต้น

ต้นทุนของสินค้าคงเหลือ มีอะไรบ้าง?

ต้นทุนของสินค้าคงเหลือ มีอะไรบ้าง

ในการคำนวณต้นทุนขายสินค้าคงเหลือจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

1. วิธีเฉพาะเจาะจง (Specific)

ใช้ในกรณีที่สินค้าแต่ละชิ้นมีมูลค่าเป็นของตัวเอง หากมีรายการขายสินค้า ก็จะบันทึกจำนวนต้นทุนของสินค้าเลย มักจะใช้กับสินค้าที่ไม่สามารถสับเปลี่ยนได้ หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง มีการขายไม่บ่อยนัก เช่น รถยนต์ เครื่องเพชร หรือเครื่องจักรชนิดพิเศษ เป็นต้น

ตัวอย่างวิธีเฉพาะเจาะจง (Specific)

(1) ซื้อสินค้า ก มูลค่า 1,000 บาท บันทึกว่ามีสินค้าคงเหลือ 1,000 บาท

(2) ซื้อสินค้า ข มูลค่า 1,200 บาท บันทึกมูลค่าสินค้าคงเหลือ 2,200 บาท

(3) ซื้อสินค้า ค มูลค่า 1,500 บาท บันทึกมูลค่าสินค้าคงเหลือ 3,700 บาท

(4) เมื่อมีลูกค้ามาซื้อสินค้า ต้องดูก่อนว่าเป็นสินค้าไหน หากมีการซื้อสินค้า ข ออกไป จะทำให้มูลค่าสินค้าคงเหลือ 2,500 บาท (1000+1,500) และมูลค่าต้นทุนขายในงบกำไรขาดทุนจะเท่ากับ 1,200 บาท ตามมูลค่าสินค้า ข ที่มีการขายออกไป

ล็อตต้นทุนต้นทุนขายสินค้าสินค้าคงเหลือ
1,0001,000
1,200(1,200)
1,5001,500
รวม3,700(1,200)2,500

2. วิธีเข้าก่อนออกก่อน (First-in, First-out: FIFO)

วิธีนี้จะได้รับความนิยม เพราะเข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สมมติว่าสินค้า ล็อต ก ข ค เข้ามาในโกดังสินค้าตามลำดับ เมื่อมีการขายออกไป สินค้าล็อต ก ต้องออกก่อนสินค้า ข ค หมายความว่าสินค้าที่เข้ามาก่อน ย่อมออกไปก่อนทุกครั้ง เพราะฉะนั้นสินค้าที่เข้ามาก่อนจึงเป็นต้นทุนขายและต้นทุนสินค้าที่มาตามหลัง จะเป็นสินค้าคงเหลือ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปจนเกือบถึงสิ้นปี สินค้าคงเหลือจะมีมูลค่าใกล้เคียง กับตลาดที่สุด ช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นฐานะทางการเงินของกิจการได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดนั่นเอง

บริษัท ฮ.นกฮูก มีสินค้าล็อต ก มีมูลค่า 110 บาท สินค้าล็อต ข มีมูลค่า 120 บาท สินค้าล็อต ค  มีมูลค่า 100 บาท เมื่อได้รับสินค้าแต่ละล็อตเข้ามาตามลำดับ ก ข ค แล้ว มูลค่าของสินค้าคงเหลือในโกดังจะเท่ากับ 330 บาท (110 + 120 + 100) ต่อมาเมื่อเกิดรายการขายล็อต ก จะออกไปก่อนเป็นชิ้นแรก เมื่อมีการบันทึกให้ถือว่ามีต้นทุนขาย 110 บาท และมูลค่าสินค้าคงเหลือเท่ากับ 220 บาท (120 + 100) และเมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าอีกครั้ง ให้ถือว่าได้ขายสินค้าล็อต ข ออกไป จะทำให้ต้นทุนขายมีมูลค่า 230 บาท (110 + 120) และสินค้าคงเหลือมีมูลค่าทั้งสิ้น 100 บาท นั่นหมายความมีเพียงสินค้าล็อต ค อยู่ในโกดังนั่นเอง

เมื่อขายสินค้าล็อต ก ออกไป

ล็อตต้นทุนต้นทุนขายสินค้าสินค้าคงเหลือ
100(110)
120120
100100
รวม330(110)220

เมื่อขายสินค้าล็อต ข ออกไป

ล็อตต้นทุนต้นทุนขายสินค้าสินค้าคงเหลือ
110(110)
120(120)
100100
รวม330(110)100

3. วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average)

หรือเรียกว่าการเฉลี่ยต้นทุน ให้กับสินค้าทุกหน่วย หน่วยละเท่า ๆ กัน โดยคิดจากผลรวมราคาทุนของสินค้าทั้งหมดหารด้วยจำนวนหน่วยสินค้าที่ขาย จากนั้นนำมาถ่วงน้ำหนักในแต่ละหน่วยสินค้า วิธีนี้เหมาะกับสินค้าย่อย ๆ ที่มีปริมาณมากปะปนกัน แต่วิธีนี้จะไม่สามารถมองเห็นราคาจริงในตลาดเหมือนวิธีเข้าก่อออกก่อนได้ จึงจะทำให้งบการเงินมีความคลาดเคลื่อนได้นั่นเอง

วิธีคำนวณต้นทุนผลิตและต้นทุนขาย

วิธีคำนวณต้นทุนผลิตและต้นทุนขาย

ในการผลิตสินค้าจะมีการคำนวณต้นทุนผลิตและต้นทุนขาย ตามสูตรดังต่อไปนี้

ต้นทุนผลิต = งานระหว่างทำต้นงวด + วัตถุดิบทางตรงใช้ไป + ค่าแรงทางตรง + ค่าใช้จ่ายการผลิต – งานระหว่างทำปลายงวด

งานระหว่างทำ คือ สินค้าที่อยู่ในระหว่างการผลิต

วัตถุดิบทางตรง คือ วัตถุดิบทางตรงที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าให้ออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น กิจการผลิตเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ วัตถุดิบทางตรง คือ ไม้ นั่นเอง

ค่าแรงทางตรง คือ ผลตอบแทนของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าแรงของฝ่ายผลิต ฝ่ายคลังสินค้า

ค่าใช้จ่ายการผลิต คือ วัตถุดิบทางอ้อม ค่าแรงทางอ้อม หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นในขบวนการผลิตสินค้า

ต้นทุนขาย = สินค้าสำเร็จรูปต้นงวด + ต้นทุนผลิต – สินค้าสำเร็จรูปปลายงวด

สินค้าสำเร็จรูป คือ สินค้าที่ผลิตออกมาเสร็จแล้วและพร้อมขาย ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ สินค้าสำเร็จรูป ก็คือเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตเสร็จนั่นเอง สินค้าคงเหลือ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ คือ เป็นสินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อขายในกิจการ ได้แก่ วัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า สินค้าระหว่างการผลิต สินค้าสำเร็จรูปนั่นเอง หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ เพื่อนำไปปรับใช้ในกิจการของตนเองได้ต่อไป

ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc

สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc

LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc

Tel: 082-254-6831, 063-150-5855