fbpx

สินทรัพย์ถาวร แตกต่างจากสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างไร !?

สินทรัพย์ถาวร

จากบทความเรื่องสินทรัพย์หมุนเวียนที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่าสินทรัพย์นั้น นอกจกมีสินทรัพย์หมุนเวียนแล้ว ยังมีสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า สินทรัพย์ถาวร ซึ่งมีความแตกต่างจากสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างไร บทความนี้เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับสินทรัพย์ถาวรกันค่ะ

สินทรัพย์ถาวร คืออะไร

เรามาทบทวนเกี่ยวกับ สินทรัพย์ กันก่อน สำหรับสินทรัพย์ (Assets) ในทางบัญชีนั้น หมายถึง เงิน หรือ สิ่งของที่มีมูลค่าเป็นตัวเงิน  ทั้งมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน เพื่อนำมาลงทุนในธุรกิจได้ มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ สินทรัพย์หมุนเวียน คือสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี ส่วนสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หรือ สินทรัพย์ถาวร  คือ สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน มีลักษณะคงทนถาวร และมีอายุการใช้งานนานกว่า 1 ปี  สำหรับบทความนี้เราจะมาพูดถึงสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หรือสินทรัพย์ถาวร โดยประเภทของสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หรือ สินทรัพย์ถาวร แบ่งออกเป็น 2 ประเภทมีดังนี้

สินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตน (Tangible Fixed Asset)

สินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตน (Tangible Fixed Asset)

สินทรัพย์ที่มีสภาพมองเห็นได้ สัมผัสจับต้องได้ โดยสินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตน จะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.1 มีอายุการใช้งานไม่จำกัด ไม่หักค่าสึกหรอและเสื่อมราคา เช่น ที่ดิน

1.2 มีอายุการใช้งาน ต้องหักค่าสึกหรอและเสื่อมราคา เช่น อาคาร เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน

1.3 ใช้แล้วหมดไปไม่มีทดแทน ต้องหักค่าเสื่อมสิ้น ได้แก่ เหมืองแร่ ป่าไม้ 

สินทรัพย์ถาวรที่ไม่มีตัวตน (Intangible Fixed Asset)

สินทรัพย์ถาวรที่ไม่มีตัวตน (Intangible Fixed Asset)

สินทรัพย์ที่สัมผัสไม่ได้ หรือไม่มีตัวตน ให้ประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ แต่สามารถวัดมูลค่าและสิทธิเป็นตัวเงินได้

2.1 ต้องตัดบัญชี เพราะระยะเวลาของสิทธิได้ลดตามส่วนของค่าที่ลดลง

  1. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) สำหรับใช้งานในการบริหารจัดการ ควบคุมคุณภาพ การผลิต การบริหารภายใน
  2. สิทธิบัตร (Patent) คือ สิทธิที่ได้รับจากรัฐในการเข้าใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ ลิขสิทธิ์ (Copyright) คือ สิทธิที่ได้รับจากรัฐในการจัดพิมพ์ ขาย หรือใช้ประโยชน์จากศิลปกรรม ดนตรี วรรณกรรม อื่นๆ
  3. สัญญาเช่า (Leasehold) คือ สิทธิในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่เช่าตามที่ตกลง หรือกำหนดเป็นสัญญา
  4. สัมปทาน (Franchise) สิทธิที่กิจการได้รับในการนำสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งวางตลาด

2.2 ไม่ต้องตัดบัญชี เพราะไม่มีการเสื่อมมูลค่าของสินทรัพย์นั้น

  1. ค่านิยม (Goodwill) คือ ค่าที่เกิดจากการซื้อกิจการในราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน
  2. เครื่องหมายการค้า (Trademark) สิทธิที่ได้รับในการใช้ประโยชน์จากเครื่องหมาย หรือชื่อที่กำหนดอย่างถาวรแต่เพียงผู้เดียว

เราจะสังเกตว่าสินทรัพย์ถาวร จะมีการคิดค่าเสื่อมราคา เพื่อตัดมูลค่าสินทรัพย์ถาวรให้ลดลง เพราะสินทรัพย์บางประเภทมีอายุการใช้งานยาว เช่น รถยนต์ เครื่องจักร์ อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อเวลาผ่านไปสินทรัพย์นั้นมีการใช้งานทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ถาวรลดลง ทำให้การตัดค่าเสื่อมราคา เป็นการแสดงให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ถาวรที่มีการใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง ในส่วนของที่ดิน จะไม่มีการนำมาคิดค่าเสื่อมราคา เพราะที่ดิน ไม่เสื่อมสภาพตามการใช้งานแต่จะเสื่อมสภาพยกเว้นแต่ ที่ดินติดแม่น้ำที่มีน้ำกัดเซาะทำให้พื้นที่ลดลง หรือพื้นที่ทำการเกษตรที่ดินมีการเสื่อมสภาพเมื่อมีการเพาะปลูกอาจทำให้พืชผลที่ได้ไม่อุดมสมบูรณ์มากนัก เป็นต้น

สรุปแล้ว สินทรัพย์ถาวร หรือ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน มักมีไว้เพื่อประโยชน์ในการผลิตหรือเพื่อใช้ในการบริหาร มากกว่า 1 ปี และในการจัดซื้อสินทรัพย์ถาวรนี้จะต้องคำนึงถึงมูลค่า หรือราคาทุน การคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเพื่อประกอบการบันทึกบัญชีต่อไป

ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc

สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc

LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc

Tel: 082-254-6831