fbpx

ใบเพิ่มหนี้ อีกหนึ่งเอกสารสำคัญที่ควรรู้ไว้!

ใบเพิ่มหนี้

ใบเพิ่มหนี้ คือเอกสารสำคัญในการประกอบกิจการ ถือเป็นใบกำกับภาษีชนิดหนึ่ง จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว ต่อมามีการปรับราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน  เช่น ผู้ซื้อตกลงซื้อสินค้าไปแล้ว ร้านค้ามีการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าร้านค้ามีการคิดราคาผิดไปจากที่ผู้ซื้อได้ตกลงไว้ ทำให้ร้านค้าจะต้องแก้ไขราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตามไปด้วย จึงต้องมีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ โดยออกใบเพิ่มหนี้ให้แก่ผู้ซื้อหรือรับบริการสินค้านั่นเอง ส่วยรายละเอียดเกี่ยวกับใบเพิ่มหนี้จะเป็นอย่างไรนั้นมาติดตามกันต่อค่ะ

1. ใบเพิ่มหนี้คืออะไร?

ใบเพิ่มหนี้ถือได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีชนิดหนึ่งซึ่งมีหน้าตาไม่ต่างจากใบกำกับภาษีมากนัก แต่จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของหัวบิลและรายละเอียดภายในเอกสาร ใบเพิ่มหนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว ต่อมามีเหตุการณ์ที่ทำให้มีการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากของที่ผู้ประกอบการส่งออกไปนั้นเกินกว่าจำนวนที่ตกลงกับผู้ซื้อไว้แต่แรก หรือมีการบริการเกินกว่าที่ตกลงกันไว้แต่แรก หรือมีการคำนวณราคาสินค้าหรือค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าจริง โดยผู้ประกอบการจะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมารวมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และโดยออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต่อไป

2. เหตุการณ์ใดบ้างที่ต้องออกใบเพิ่มหนี้?

หากคุณมีความสนใจในสินค้าชิ้นหนึ่งและทำการตกลงซื้อขาย จากนั้นผู้ประกอบการทำการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ประกอบการกลับเกิดความผิดพลาด ทำให้คิดราคาสินค้าผิดไปจากที่ผู้ซื้อได้ตกลงไว้ จึงทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องแก้ไขราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตามไปด้วย โดยสาเหตุที่ทำให้ต้องออกใบเพิ่มหนี้เนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1.เนื่องจากสินค้าหรือบริการเกินกว่า หรือมีการคำนวณราคาผิดพลาดทำให้ราคาต่ำกว่าราคาที่ตกลงซื้อขายกัน

2.เนื่องจากมีการให้บริการเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ หรือคำนวณราคาต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้

มาตรา 86/9   ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 82/9 ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ให้ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

3. รายละเอียดในใบเพิ่มหนี้ ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

  1. คำว่า “ใบเพิ่มหนี้” ต้องเห็นได้ชัดเจน
  2. วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
  3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้
  4. ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  5. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม
  6. มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสอง
  7. คำอธิบายสั้นๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้
  8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ให้นำมาตรา 86/4 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้ถือว่าใบเพิ่มหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี

4. หากใบเพิ่มหนี้หายต้องทำอย่างไร?

หากใบเพิ่มหนี้หายต้องทำอย่างไร

ในกรณีที่ใบเพิ่มหนี้หาย ผู้ซื้อสามารถขอใบเพิ่มหนี้จากผู้ประกอบการให้ออกใบแทนใบเพิ่มหนี้ได้ โดยผู้ประกอบการสามารถออกใบใบแทนใบเพิ่มหนี้ได้ โดยการถ่ายสำเนาใบเพิ่มหนี้ และลงบันทึกรายการด้านหลังสำเนาใบเพิ่มหนี้ดังต่อไปนี้

  1. ใบแทนออกให้ครั้ง
  2. วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทนใบเพิ่มหนี้
  3. คำอธิบายถึงสาเหตุของการออกใบแทนใบเพิ่มหนี้
  4. ลงชื่อผู้ออกใบแทนใบเพิ่มหนี้

ผู้ประกอบการจะต้องทำการบันทึกรายการการออกใบแทนใบเพิ่มหนี้ในรายการภาษีขาย ภายในเดือนที่มีการออกใบแทนใบเพิ่มหนี้ โดยต้องระบุชื่อผู้ซื้อ เลขที่/เล่มที่ และวันที่ของใบเพิ่มหนี้ที่ได้มีการออกใบแทนใบเพิ่มหนี้

มาตรา 86/12 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี หรือใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้แล้ว ต่อมาหากได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการซึ่งทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น ออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ ให้มีรายการเช่นเดียวกับใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ แล้วแต่กรณี โดยให้มีข้อความระบุไว้ในที่ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นใบแทน และออกเพื่อแทนใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ฉบับใด

สรุปแล้วผู้ประกอบการจะมีการออกใบเพิ่มหนี้ ในกรณีที่สินค้าหรือบริการเกินกว่า หรือมีการคำนวณราคาผิดพลาดทำให้ราคาต่ำกว่าราคาที่ตกลงซื้อขายกัน หรือมีการให้บริการเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ หรือคำนวณราคาต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ โดยโดยผู้ประกอบการจะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมารวมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต่อไป ผู้ประกอบการสามารถออกใบเพิ่มหนี้ภายในเดือนที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเพิ่มหนี้ หรือหากผู้ประกอบไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันภายในเดือนที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเพิ่มหนี้ได้ทัน ก็ยังสามารถออกใบเพิ่มหนี้ในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีเหตุการณ์ก็ได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องนำรายการใบเพิ่มหนี้ นำเข้าไปในรายงานเสียภาษีขายด้วย เสมือนเป็นรายการขายเพิ่มมาอีกรายการ ส่วนผู้ซื้อที่รับใบเพิ่มหนี้มา จะต้องนำรายการใบเพิ่มหนี้ นำเข้ารายงานภาษีซื้อ เสมือนเป็นรายการซื้ออีกรายการหนึ่งภายในเดือนตามวัน เดือน ปีในเพิ่มหนี้ระบุไว้

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc

สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc

LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc

Tel: 082-254-6831