fbpx

ทำความเข้าใจก่อนออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้กับคนซื้อ!

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ เอกสารการขายสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้ารายย่อยในจำนวนมาก ออกโดยผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของกิจการขายปลีก โดยกิจการขายปลีกที่สามารถออกไปกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากรอาทิเช่น

  1. กิจการที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีการจำหน่ายในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ได้นำไปขายต่อ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา ร้านค้าปลีก เป็นต้น
  2. ธุรกิจให้บริการแก่คนจำนวนมาก เช่น โรงภาพยนตร์ สถานบริการต่าง ๆ เป็นต้น

โดยในใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะต้องมีรายการดังต่อไปนี้

รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อ

รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อ
  1. ระบุคำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
  2. ชื่อ หรือ ชื่อย่อ และเลข 13 หลักของผู้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
  3. เลขที่ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
  4. รายละเอียกสินค้า ได้แก่ ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า/บริการ สามารถกำหนดเป็นเลขรหัสได้
  5. ราคาสินค้า/บริการ ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ต้องให้เห็นอย่างชัดเจน
  6. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
  7. ข้อความอื่น ๆ ตามที่สรรพากรกำหนดไว้

ในกรณีที่ลูกค้าต้องการใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการจะต้องออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้ลูกค้าได้เช่นเดียวกัน

ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบแตกต่างจากใบกำกับภาษีอย่างย่ออย่างไร

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า หากลูกค้าต้องการใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้แก่ลูกค้า ซึ่งใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบแตกต่างจากใบกำกับภาษีอย่างย่อ ดังต่อไปนี้

ใบกำกับภาษีอย่างย่อใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
1. ชื่อผู้เสียภาษีไม่จำเป็นต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของลูกค้าต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของลูกค้าอย่างชัดเจน
2. รายละเอียดสินค้าแสดงชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าเป็นรหัสได้แสดงชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าอย่างชัดเจน
3. ราคาสินค้าราคาสินค้าหรือบริการนั้นมีการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วอย่างชัดเจนแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มแยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน
4. ภาษีไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภพ.30 ได้สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภพ.30 ได้

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

หากกิจการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องการใช้เครื่องบันทึกเงินสดเพื่อทำการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะต้องมีการยื่นคำขอใช้เครื่องบันทึกต่ออธิบดีกรมสรรพากร พื้นที่ในเขตท้องที่ที่กิจการ สถานประกอบการตั้งอยู่ก่อน และหากกิจการมีหลายสาขา จะต้องยื่นคำขออนุมัติเป็นรายสาขาไป ซึ่งจะต้องมีการแนบเอกสารและรายการพร้อมคำขออนุมัติดังนี้

  1. คุณสมบัติโดยย่อของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
  2. รุ่น ยี่ห้อ หมายเลขประจำเครื่อง หรือ serial number พร้อมจำนวนเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ขออนุมัติ
  3. ผังแสดงตำแหน่งการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน หากมีการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นจะต้องมีการแสดงผังการต่อเชื่อมดังกล่าว
  4. ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ และตัวอย่างรายงายการขายสินค้าหรือบริการประจำวันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ จะได้ไม่ต้องมานั่งเขียนหรือพิมพ์ใบกับภาษีเอง โดยพาะร้านค้าปลีกที่ต้องขายสินค้าแก่บุคคลจำนวนมาก และยังง่ายต่อการตรวจสอบอีกด้วย แต่หากผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรต่อไป หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เอกสารการขายสินค้า หรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้ารายย่อยในจำนวนมาก ออกโดยผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากลูกค้ามีการร้องขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบจะต้องออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้แก่ลูกค้าเช่นเดียวกัน เพราะหากลูกค้าอยู่ในระบบ VAT เหมือนกัน ลูกค้าจะไม่สามารถนำภาษีซื้อไปขอหักออกจากภาษีขายได้ จึงจำเป็นจะต้องใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบเท่านั้น ทั้งนี้การทำความเข้าใจในเรื่องการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อหรือใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรใช้ความสำคัญ เพราะมีขั้นตอน กฎเกณฑ์ รายละเอียดที่ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจ และปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหากับสรรพากรในภายหลัง

ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc

สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc

LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc

Tel: 082-254-6831, 063-150-5855