
หากธุรกิจของคุณมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว จำเป็นจะต้องรู้จักแล้วเข้าใจเกี่ยวกับ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย ซึ่งต้องมีการส่งพร้อมกับเอกสาร ภ.พ.30 แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน สำหรับรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขายคืออะไร บทความนี้มีความรู้เรื่องนี้มาอธิบายให้ฟังกันค่ะ
รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย คืออะไร
รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย คือ การทำรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดภาษีซื้อและภาษีขายที่เกิดขึ้นภายในรอบเดือนนั้น ทั้งนี้สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการต่อปีเกินกว่า 1.8 ล้านบาท จะต้องมีการนำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขายแนบไปพร้อมกับการส่งเอกสาร ภ.พ.30 ซึ่งเป็นเอกสารสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย ที่เจ้าของธุรกิจต้องเอาไว้ใช้ยื่นแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรทุกเดือน โดยต้องทำก่อนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทั้งนี้
หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ จะต้องมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบภ.พ.30 ให้แก่กรมสรรพากร โดยต้องยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือหากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย สามารถขอคืนภาษีเป็นเงินสดหรือนำส่วนเกินไปใช้เป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไปได้ เราจะมาขยายความในส่วนของรายละเอียดของรายงานภาษีซื้อ และ รายงานภาษีขาย สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
รายงานภาษีซื้อ คืออะไร
รายงานภาษีซื้อ เป็นรายงานที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ จัดทำขึ้นเพื่อบันทึกรายละเอียดจำนวนภาษีซื้อ แสดงมูลค่าสินค้าหรือบริการและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่น โดยรายการภาษีซื้อ จะต้องลงรายละเอียด รายงานภาษีซื้อเฉพาะรายการซื้อที่มีหลักฐานใบกำกับภาษี หรือใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ หรือใบเสร็จรับเงินอื่นใดตามที่กำหนดโดยกฎหมาย ทั้งนี้การลงรายการเพิ่มและลดยอดภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากดังต่อไปนี้
รายการเพิ่มภาษีซื้อเกิดขึ้นจากอะไร
- การซื้อหรือการนำเข้าซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบ
- การซื้อ หรือเช่าซื้อ หรือนำเข้าซึ่งทรัพย์สิน
- การรับฝากขายสินค้า
- การรับบริการหรือการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ
- การเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการ
- ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำส่งตามแบบแสดงรายการ ภ.พ.36 เนื่องจากจ่ายบริการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย หรือรับโอนสินค้าหรือการที่เคยได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
รายการเพื่อลดภาษีซื้อให้ลดลงเกิดขึ้นจากอะไร
- การส่งคืนสินค้าหรือยกเลิกสัญญาการให้บริการ
- การลดราคาสินค้าหรือค่าบริการที่ผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน
ทั้งนี้รูปแบบรายงานภาษีซื้อตามรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
- ชื่อที่แสดงว่าเป็นรายงานภาษีซื้อ
- แสดงเดือนภาษี และปีภาษี
- แสดงชื่อสถานประกอบการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
- แสดงที่อยู่ของสถานประกอบการตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- แสดงสำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ยื่นรายงานภาษีซื้อ
- แสดงรายละเอียดของใบกำกับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในเดือนภาษีนั้น อันได้แก่ วันเดือนปี, เลขที่ใบกำกับภาษี, ชื่อผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ, เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ, สำนักงานใหญ่/สาขาของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ, มูลค่าสินค้า/บริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม
รายงานภาษีขาย คืออะไร
รายงานภาษีขาย เป็นแบบรายงานที่กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดทำเพื่อบันทึกจำนวนภาษีขายของกิจการที่ได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากลูกค้าในแต่ละเดือนภาษี หากภาษีขายเกิดขึ้นภายในเดือนนั้นให้บันทึกเป็นของเดือนนั้น ทั้งนี้รายการสำคัญที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องนำไปลงจำนวนภาษีขายในรายงานภาษีขายทำให้ยอดภาษีขายในเดือนที่มีรายการเกิดขึ้นเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลง ได้แก่ ภาษีขายอันเนื่องมาจาก
รายการเพิ่มภาษีขายเกิดขึ้นจากอะไร
- การขายสินค้าหรือให้บริการในประเทศไทย (กรณีการส่งออกภาษีขาย = 0)
- การให้เช่าซื้อ
- การส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย (ฝากขาย)
- การนำสินค้าหรือบริการไปใช้เพื่อการอื่นใด ที่ไม่ใช่เพื่อการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- หนี้สูญที่ได้รับคืน
- มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
- มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และทรัพย์สินของผู้ประกอบการที่ได้ควบรวมเข้าด้วยกัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
รายการลดภาษีขายเกิดขึ้นจากอะไร
- การรับคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่างหรือที่เสนอขาย
- การลดราคาสินค้าหรือค่าบริการซึ่งผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน
- หนี้สูญที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
ทั้งนี้รูปแบบรายงานภาษีขายตามรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
- ชื่อที่แสดงว่าเป็นรายงานภาษีขาย
- แสดงเดือนภาษี และปีภาษี
- แสดงชื่อสถานประกอบการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
- แสดงที่อยู่ของสถานประกอบการตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- แสดงสำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ยื่นรายงานภาษีขาย
- แสดงรายละเอียดของใบกำกับภาษีขายที่เกิดขึ้นในเดือนภาษีนั้น อันได้แก่ วันเดือนปี, เลขที่ใบกำกับภาษี, ชื่อผู้ซื้อสินค้า/ผู้รับบริการ, เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้า/ผู้รับบริการ, สำนักงานใหญ่/สาขาของผู้ขายสินค้าหรือผู้รับบริการ, มูลค่าสินค้า/บริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าลืมแนบเอกสารรายงานภาษีซื้อ และ รายงานภาษีขาย พร้อมกับการยื่น ภ.พ.30 แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ทั้งนี้หากไม่ปฏิบัติตามหรือมีการจด VAT แล้วแต่ยังไม่มีการยื่นแบบ ภ.พ.30 อาจมีความเสี่ยงที่จะต้องเสียค่าปรับการยื่นแบบล่าช้า เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และค่าปรับอาญาอีกด้วยค่ะ
ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831