หากคุณคือผู้ประกอบการที่เปิดร้านค้า จะต้องยื่นภาษีเป็นประจำทุกปีเพื่อแสดงรายได้ที่คุณได้รับมาตลอดปี เพราะถ้าหากคุณไม่ทำการยื่นภาษี แต่สรรพากรเข้ามาตรวจสอบคุณในภายหลัง คุณอาจจะโดนปรับและถูกเรียกเก็บในภายหลังได้ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาษีร้านค้า ให้มากขึ้นกว่าเดิมกันค่ะ
หัวข้อเนื้อหา
ทำไมต้องเสียภาษีร้านค้า?
การเสียภาษี เป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคน รวมไปถึงร้านค้า เพื่อแสดงรายได้ที่ได้รับมาตลอดทั้งปี โดยเฉพาะร้านค้า จะต้องมีการยื่นเสียภาษี เพราะหากสรรพากรเข้ามาตรวจสอบในภายหลัง คุณอาจจะโดนเรียกเก็บภาษีมากกว่าที่จะต้องจ่ายและอาจถูกปรับได้ แต่หากคำนวณรายได้ทั้งปีแล้วไม่เกิน 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ควรยื่นภาษีเพื่อความถูกต้องตามกฎหมาย
ภาษีร้านค้า ที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายมีอะไรบ้าง?
ผู้ประกอบการที่เปิดร้านค้า มีสถานที่ตั้งและมีป้ายหน้าร้าน จะต้องมีการเสียภาษีร้านค้าซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดย ภาษีร้านค้าที่คุณต้องทำความเข้าใจและจ่ายภาษี ได้แก่ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1. ภาษีป้าย
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณา โดยป้ายที่มีลักษณะแสดงชื่อ ยี่ห้อ และเครื่องหมายการค้า ทั้งรูปแบบของตัวอักษร ภาพ เครื่องหมายที่เขียน และวิธีอื่น ๆ จะต้องมีการเสียภาษีป้าย
แต่มีข้อยกเว้นสำหรับป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่
- ป้ายที่ติดภายในอาคาร
- ป้ายที่มีการเลื่อนเข้าเลื่อนออก (ป้ายที่มีล้อ)
- ป้ายของราชการ
- ป้ายโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชน
- ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ
- ป้ายที่ติดไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนน รถแทรกเตอร์
- ป้ายที่ติดไว้ที่ยานพาหนะอื่น โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม
2. ภาษีโรงเรือน
ภาษีโรงเรือน คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง กับที่ดินที่ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องไปกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยสินทรัพย์ที่ต้องมีการเสียภาษีโรงเรือน จะต้องมีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นไปในกิจกรรมดังนี้
- ให้เช่า
- ใช้เป็นที่ค้าขาย
- ใช้เป็นที่ไว้สินค้า คลังสินค้า
- ใช้เป็นที่ประกอบอุตสาหกรรม
- ให้ญาติ บิดา มารดา บุตร หรือผู้อื่นอยู่อาศัย
- ใช้ประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อหารายได้ และไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย
แต่มีข้อยกเว้นสำหรับทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ได้แก่
- พระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน
- ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐบาล หรือสาธารณะ และทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรง
- โรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะ ประกอบกิจการไม่ใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคล
- ศาสนสมบัติใช้เฉพาะในศาสนกิจอย่างเดียวหรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์
- โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ปิดไว้ตลอดปี และเจ้าของไม่ได้อยู่เอง หรือให้ผู้อื่นอยู่ยกเว้นคนเฝ้า
- โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของการเคหะแห่งชาติที่ผู้เช่าซื้ออยู่อาศัยเอง ไม่ได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้า หรือประกอบอุตสาหกรรม หรือกิจการเพื่อหารายได้
- โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ที่เจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้า หรือประกอบอุตสาหกรรม
3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ ไม่ว่าประเภทใด ชนิดใด ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้แล้วก็อยู่ในข่ายต่องเสียภาษี โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ร้านค้าไม่ได้มีจดทะเบียนนิติบุคคล ยื่นรายได้ในภาษีร้านค้าอย่างไร
การทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมไปถึงการเก็บหลักฐานในการซื้อขาย บัญชีรายรับรายจ่าย ใบคำสั่งซื้อ หรือหลักฐานในการรับเงินจ่ายเงิน สามารถนำไปยื่นสรรพากรได้ โดยยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด.90 และมีข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับร้านค้าทั่วไปรวมไปถึงร้านค้าที่มีการขายของออนไลน์ ดังนี้
- ทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมไปถึงบันทึกกิจกรรมทางการเงินทุกอย่าง เพื่อให้สามารถดูได้ว่ามีการเข้าออกของเงินอย่างไร
- เก็บหลักฐานทางการเงินทุกอย่างไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย ถอน รับโอน หรือการลงทุน เพื่อที่เวลาสรรพากรขอดู เราก็จะได้มีเอกสารให้ดูและเพื่อยืนยันการทำธุรกรรมต่าง ๆ
- หมั่นติดตามข่าวสารทางการเงินอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเพื่อประโยชน์ต่อตัวคุณเอง
- หาความรู้เพิ่มเติมในด้านภาษีเงินได้ เพื่อช่วยให้สามารถจัดการในเรื่องของรายรับรายจ่าย ภาษีที่ต้องจ่าย รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
คำนวณภาษีร้านค้าอย่างไร?
1. แบบเหมา โดยหักต้นทุน 60%
เหมาะกับผู้ที่มีกำไรสูงเท่ากับหรือมากกว่า 40% ขึ้นไป สรรพากรสามารถเก็บตามนั้นได้โดยไม่ต้องพิสูจน์รายได้
2. แบบค่าใช้จ่ายตามจริง
เหมาะกับผู้ที่มีกำไรน้อยกว่า 40% จึงต้องมีการบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อนำไปยื่นภาษีได้และหากคุณรอให้สรรพากรมาประเมิน อาจจะถูกคิดภาษีแบบเหมา ทำให้คุณต้องเสียภาษีหลักพันได้
นอกจากภาษีร้านค้าที่ผู้ประกอบการควรทราบแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่มีหน้าร้านแต่มีการค้าขายออนไลน์ จำเป็นจะต้องรู้จักและทำความเข้าใจเรื่องของภาษีขายของออนไลน์ ซึ่งนับเป็นภาษีเงินได้จากการค้าขายนั่นเอง สำหรับใครที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีขายของออนไลน์ได้ที่บทความ ภาษีขายของออนไลน์ ได้เลยค่ะ
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นภาษีร้านค้า
1. หลักฐานแสดงรายรับ – รายจ่ายของร้านทั้งปี
2. หลักฐานในการซื้อขาย บัญชีรายรับรายจ่าย ใบคำสั่งซื้อ หรือหลักฐานในการรับเงินจ่ายเงิน เป็นต้น
3. รายการลดหย่อนภาษีทั้งปี + เอกสารประกอบการลดหย่อน โดยรายการลดหย่อนที่สามารถนำมายื่นได้ ได้แก่
- ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร, ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่
- ประกัน เช่น ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต
- กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุน RMF
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ช้อปช่วยชาติ, เที่ยวทั่วไทย
- เงินบริจาค เช่น พรรคการเมือง, การศึกษา, กีฬา
หากไม่ยื่นภาษีจะเป็นอย่างไร?
1. กรณีไม่ยื่นภาษี หรือแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90,91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
2. หากละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยื่นภาษีร้านค้า ได้ที่ไหนบ้าง?
ในการยื่นภาษีร้านค้า สามารถยื่นได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ ยื่นด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร แอพพลิเคชั่น RD Smart Tax และยื่นภาษีออนไลน์ได้ที่ rd.go.th
ภาษีร้านค้า เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านควรให้ความสำคัญ และต้องทำการยื่นภาษีตามกำหนดเวลาเพื่อความถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากละเลยหรือไม่ยื่นภาษีภายในเวลาที่กำหนด หากวันใดวันหนึ่งที่สรรพากรตรวจสอบขึ้นมา อาจจะต้องมีโทษปรับและยังต้องเสียภาษีย้อนหลังเยอะกว่าที่จะต้องเสียตามปกติอีกด้วยค่ะ
ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831, 063-150-5855