ในการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมนั้นจำเป็นจะต้องรู้เรื่องของต้นทุนขาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ค่าใช้จ่ายในการขาย ต้นทุนขาย คือต้นทุนที่ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขาย ซึ่งเราได้เคยอธิบายเกี่ยวกับต้นทุนขายมาบ้างแล้วในบทความที่ผ่านมา ในบทความนี้เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการขายและความแตกต่างของต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขายกันค่ะ
หัวข้อเนื้อหา
ต้นทุนขาย คืออะไร
ก่อนอื่นเราจะมาทบทวนเกี่ยวกับ ต้นทุนขาย กันเสียก่อน สำหรับต้นทุนขาย คือ เงินที่ใช้ในการซื้อสินค้า วัตถุดิบ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้สินค้าและบริการพร้อมขายได้ โดยรวมตั้งแต่การออกแบบสินค้า จัดหาวัตถุดิบ ผลิตสินค้า ทดสอบสินค้า การจัดเก็บสินค้า บรรจุภัณฑ์ การขนส่งสินค้า เป็นต้น สำหรับต้นทุนขายสามารถคำนวณได้ โดยต้องแยกประเภทธุรกิจออกเป็น 2 ประเภท ธุรกิจซื้อมาขายไป จะมีการคำนวณต้นทุนขายแค่คิดจากราคาสินค้าที่ซื้อมา รวมค่าขนส่งสินค้าเข้าร้าน เป็นต้น และ ธุรกิจผลิตสินค้า ซึ่งต้นทุนผลิตจะเกี่ยวกับกระบวนการผลิตสินค้า เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงงาน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันรถ รวมทั้งของเสียต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดจากกระบวนการผลิตด้วย หากธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะไม่ค่อยมีความซับซ้อนมาก ผู้ประกอบการสามารถคำนวณต้นทุนขายได้จาก
- ต้นทุนวัตถุดิบ มีหลักการคำนวณง่าย ๆ คือ จำนวนสินค้าที่ผลิตได้ / ราคาวัตถุดิบรวม จะได้ต้นทุนวัตถุดิบต่อชิ้น
- ค่าแรง เงินเดือน ถือเป็นต้นทุนการผลิต
- ค่าใช้จ่ายในการผลิต ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าเครื่องจักร หรือของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
เราจะเห็นว่าต้นทุนขายเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการขาย แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ ต้นทุนขาย คือ ต้นทุนที่ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขาย ส่วนค่าใช้จ่ายในการขาย คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากสินค้าพร้อมขายแล้วจะทำอย่างไรให้สินค้านั้นมียอดขายสูงนั่นเอง
ค่าใช้จ่ายในการขาย คืออะไร
ค่าใช้จ่ายในการขาย อธิบายง่าย ๆ คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขาย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายในการขาย การทำโปรโมชั่น การส่งเสริมการขาย หรือค่าใช้จ่ายที่จะทำให้กิจการสามารถสร้างยอดขายได้ และอีกส่วนคือ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริการจัดการ ค่าใช้จ่ายของพนักงานต่าง ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร จะเป็นรายการที่จะต้องแสดงในงบกำไรขาดทุน เพื่อนำมาคำนวณกำไรจากการดำเนินงานนั่นเอง ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการขาย มีดังต่อไปนี้
ค่าใช้จ่ายในการขาย มีอะไรบ้าง
สำหรับค่าใช้จ่ายในการขาย เป็นรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขาย การทำโปรโมชั่น การส่งเสริมการขาย เพื่อเป็นการสร้างยอดขายให้กับสินค้าได้ ได้แก่
ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย
ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายเพื่อช่วยสร้างยอดขายให้สามารถขายสินค้าได้ ยกตัวอย่างเช่น ค่าคอมมิสชั่น
ค่าโฆษณา
ค่าโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งบิลบอร์ด โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ช่องทางออนไลน์ การรีวิวสินค้า และจ้าง Influencer
ค่าใช้จ่ายในการบริการ ได้แก่อะไรบ้าง
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน โบนัส คอมมิสชั่น สวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานทุกคน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลภายนอกเพื่อเข้ามาทำงานให้กิจการ เช่น พนักงานบัญชี ที่ปรึกษาทางเฉพาะด้าน ค่าประกันภัยต่าง ๆ
โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมได้ โดยเจ้าของกิจการจะต้องแบ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกเป็น 2 ประเภทใหม่ เรียกว่า ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร เพื่อที่จะสามารถหาจุดคุ้มทุนเพื่อนำไปใช้ในการตั้งราคาสินค้าได้ดังนี้
ค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายผันแปร คืออะไร
ค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายผันแปร คือค่าใช้จ่ายในการขาย หรือเรียกสั้น ๆ ว่าค่าใช้จ่าย แต่สำหรับการแบ่งค่าใช้จ่ายในการขายออกเป็น ค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปรนี้ จะมีประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะเพื่อที่จะสามารถหาจุดคุ้มทุนเพื่อนำไปใช้ในการตั้งราคาสินค้าได้
ค่าใช้จ่ายคงที่ คืออะไร
ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายด้วยจำนวนเดิมไม่ผันแปรตามยอดขาย ได้แก่ ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ค่าเบี้ยประกัน ค่าเสื่อมราคา ค่าทำบัญชี ดอกเบี้ย เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายผันแปร คืออะไร
ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามยอดขายหรือการใช้วัตถุดิบ เรียกได้ว่า หากยอดขายลดลง การผลิตลดลง หรือมีการใช้งานลดลง ค่าใช้จ่ายนี้จะลดลงตามไปด้วยนั่นเอง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟของโรงงาน ค่านายหน้า ค่าวัตถุดิบ ค่าเดินทาง เป็นต้น
ประโยชน์ของการแยกค่าใช้จ่ายในการขายดีอย่างไร
เมื่อมีการแยกค่าใช้จ่ายออกเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายแปรผัน รวมไปถึงการแยกต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร จะทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถวางแผนการดำเนินกิจการในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น
สถานการณ์ที่จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย
หากธุรกิจกำลังเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่มีผลต่อคุณภาพสินค้า หรือการลดค่าใช้จ่ายผันแปร เป็นทางเลือกที่ดี เช่น ออกนโยบายประหยัดไฟช่วงพักเที่ยง ลดการจ่ายเงินโอที เป็นต้น
กำไรลดลงแม้ว่ายอดขายเพิ่มขึ้น
หากพบสถานการณ์ที่ธุรกิจของคุณมีการขายสินค้าได้มากแต่กลับได้กำไรน้อยลง คุณควรกลับมาดูในส่วนของต้นทุนผันแปร เช่น ค่าแพคเกจสินค้า อาจจะเลือกใช้วัสดุทางเลือกแทนวัสดุเดิมในการทำแพคเกจสินค้า เพื่อลดต้นทุน หรือขายสินค้าแบบแพคใหญ่ เพื่อลดการใช้พลาสติก นอกจากจะช่วยลดต้นทุนผันแปรแล้ว ยังสามารถอยู่ในกระแสรักษ์โลกได้อีกด้วย
วางแผนการค่าใช้จ่ายในระยะยาว
ต้นทุนคงที่จะเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่จะมีผลต่อกิจการในระยะยาว เช่น ค่าเช่าโรงงาน ค่าเครื่องจักร หากธุรกิจสามารถแยกรายการต้นทุนคงที่ออกมาได้ จะช่วยให้เราสามารถพิจารณาความเหมาะสมในการเลือกใช้เครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นแผนการบำรุงรักษา หรือ กำลังการผลิตของเครื่องจักรนั้นได้
ค่าใช้จ่ายในการขาย มีส่วนช่วยในการคำนวณจุดคุ้มทุน เพื่อช่วยในการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมให้กับธุรกิจของคุณได้ ทั้งนี้ ยังช่วยในการวางแผนและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การลดค่าใช้จ่ายในยามขับขัน การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถวางแผนการเงินได้อีกด้วยนั่นเองค่ะ
ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831