fbpx

หมวดบัญชี และ ผังบัญชี ที่ผู้ประกอบการควรรู้ไว้!

หมวดบัญชีและผังบัญชี ที่ผู้ประกอบการควรรู้ไว้

ในการจัดทำบัญชีแยกประเภทนั้น ควรจะมีการทำ หมวดบัญชี ซึ่งเป็นการรวบรวมสิ่งที่เหมือนกันและจัดหมวดหมู่ของบัญชี เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกรายการค้าในบัญชีแยกประเภท สำหรับการทำหมวดบัญชีจะต้องทำอย่างไร เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

หมวดบัญชี คืออะไร?

หมวดบัญชี คือการรวบรวมสิ่งที่เหมือนกันและมีความหมายเหมือนกันเข้าไว้ในหมวดเดียวกัน  เช่น เงินสด  เงินฝาก หรืออุปกรณ์สำนักงานเป็นสิ่งที่กิจการครอบครอง ก็จะถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการ แต่ถ้าเป็นเจ้าหนี้ หรือตั๋วเงินจ่าย ถือว่าเป็นหนี้สินของกิจการ เพราะมีภาระผูกพันในอนาคต ซึ่งการจัดทำหมวดหมู่บัญชี แบ่งออกเป็น 5 หมวด แหล่งที่มา : https://busit.rmutto.ac.th

หมวดบัญชีมีอะไรบ้าง?

  1. สินทรัพย์
  2. หนี้สิน
  3. ส่วนของเจ้าของ/ทุน
  4. รายได้
  5. ค่าใช้จ่าย
หมวดบัญชีมีอะไรบ้าง

เมื่อทำการแบ่งหมวดบัญชีแล้ว เรายังมีการกำหนดเลขที่บัญชี หรือผังบัญชี เพื่อใช้อ้างอิงเมื่อผ่านรายการ จากสมุดรายวันทั่วไป ไปบัญชีแยกประเภททั่วไป สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ตามความเหมาะสมดังนี้

ผังบัญชีมีอะไรบ้าง?

  1. หมวดสินทรัพย์
  2. หมวดหนี้สิน
  3. หมวดส่วนของเจ้าของ
  4. หมวดรายได้
  5. หมวดค่าใช้จ่าย

ตัวอย่างหมวดบัญชี

หมวดบัญชีชื่อบัญชีเลขที่บัญชี
หมวดที่ 1 สินทรัพย์เงินสด101
เงินฝากธนาคาร102
ลูกหนี้103
อุปกรณ์สำนักงาน104
อาคาร105
ที่ดิน106
ฯลฯ
หมวดที่ 2 หนี้สินเจ้าหนี้201
เงินกู้202
ตั๋วจ่ายเงิน203
เงินเบิกเกินบัญชี204
หมวดที่ 3 ส่วนของเจ้าของทุน……..301
ถอนใช้ส่วนตัว302
หมวดที่ 4 รายได้รายได้ค่าบริการ401
รายได้จากการขาย402
หมวดที่ 5 ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน501
ค่าโฆษณาโปรโมท502
ค่าน้ำค่าไฟ503

สินทรัพย์

สินทรัพย์ คือ ทรัพยากรที่อยู่ในการควบคุมของกิจการ อาจจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ สามารถวัดมูลค่าเป็นเงินได้ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

สินทรัพย์

สินทรัพย์หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียน หมายถึง ทรัพย์สินที่อาจมีการขายหรือแปลงสภาพเป็นเงินสด หรือให้ใช้หมดภายใน 1ปีนับจากวันสิ้นงวดบัญชี จะเรียงลำดับทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดได้เร็วจะแสดงได้เป็นลำดับก่อน

ตัวอย่างสินทรัพย์หมุนเวียน
  1. เงินสด เป็นเงินสดในมือที่กิจการมีอยู่ เช่นธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน เป็นต้น
  2. เงินฝากธนาคาร เป็นเงินสดที่กิจการนําไปฝากไว้ที่ธนาคาร ทั้งเงินฝากธนาคารกระแสรายวันและออมทรัพย์ ไม่รวมเงินฝากธนาคารประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา
  3. ลูกหนี้การค้า คือ เงินที่ลูกค้าค้างชําระค่าสินค้าหรือค่าบริการที่กิจการได้ขายหรือให้บริการตามปกติ
  4. ตั๋วเงินรับ สัญญาที่จัดทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรโดยปราศจากเงื่อนไขที่บุคคลอื่นรับจะชําระเงินจํานวนหนึ่งให้แก่กิจการภายในเวลาที่กําหนดไว้
  5. สินค้าคงเหลือ ประกอบด้วยสินค้าสําเร็จรูป สินค้าระหว่างผลิต วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเพื่อขายสินค้าตามปกติ
  6. วัสดุสิ้นเปลือง เป็นวัสดุที่ใช้ในสํานักงาน ซึ่งใช้แล้วหมดไปในระยะเวลาสั้น จะถือเป็นสินทรัพย์จนกว่าจะถูกใช้ไปจะถือเป็นค่าใช้จ่าย
  7. รายได้ค้างรับ รายได้อื่นๆ ของกิจการที่เกิดขึ้นแล้วแต่กิจการยังไม่ได้รับชําระเงิน ในวันสิ้นงวด เช่น ค่าเช่าค้างรับ ดอกเบี้ยค้างรับ เป็นต้น
  8. ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายที่กิจการจ่ายไปก่อน สำหรับสินทรัพย์หรือบริการที่จะได้รับประโยชน์ในอนาคต เช่น ค่าเบี้ยประกันจ่ายล่วงหน้า เป็นต้น

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตน สินทรัพย์ไม่มีตัวตนและสินทรัพย์อื่นที่กิจการมีการถือสินทรัพย์ ไว้เกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชีนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

ตัวอย่างสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

  1. เงินลงทุนระยะยาว กิจการลงทุนซื้อหุ้นทุนหรือหลักทรัพย์ประเภทหนี้หรือพันธบัตรของกิจการอื่น โดยมีระยะเวลาลงทุนเกินกว่า 1 ปี
  2. ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดําเนินงาน การผลิต จําหน่าย กิจการได้มาจากการซื้อหรือสร้างขึ้นเอง สินทรัพย์ประเภทนี้จะแสดงด้วยราคาทุน หักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสม ยกเว้นที่ดิน จะแสดงด้วยราคาทุนหรือราคาที่ตีใหม่ โดยไม่คิดค่าเสื่อมราคา
  3. สินทรัพย์ไม่มีตัวตน เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน  แต่หลักฐานแสดงไว้อย่างชัดเจน เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า

หนี้สิน

หนี้สิน หมายถึง ภาระผูกพันที่กิจการมีต่อบุคคลภายนอกอาจเกิดจากการซื้อสินค้า หรือการกู้ยืมจะต้องชําระคืนด้วยสินทรัพย์ หรือบริการ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท

หนี้สิน

หนี้สินหมุนเวียน

หนี้สินหมุนเวียน หมายถึง หนี้สินที่มีระยะเวลาการชําระคืนภายใน 1 ปี ด้วยสินทรัพย์หมุนเวียน หรือก่อหนี้สินหมุนเวียนอื่นขึ้นใหม่

ตัวอย่างหนี้สินหมุนเวียน
  1. เจ้าหนี้การค้า เงินที่กิจการค้างชําระค่าสินค้าหรือค่าบริการที่ซื้อมาเพื่อขายหรือ เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการตามปกติ
  2. ตั๋วเงินจ่าย สัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยปราศจากเงื่อนไขที่กิจการได้รับรองไว้ต่อบุคคลอื่น ว่าจะชําระเงินจํานวนหนึ่งให้แก่บุคคลนั้นภายในเวลาที่กําหนด เช่น เป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น
  3. ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วในงวดบัญชีนี้ แต่กิจการยังมิได้จ่ายเงิน เช่น ค่าแรงงานค้างจ่าย ดอกเบี้ยค้างจ่าย

หนี้สินไม่หมุนเวียน

หนี้สินไม่หมุนเวียน หมายถึง หนี้สินที่มีระยะเวลาการชําระเงินเกินกว่า 1 ปี หรือรอบระยะเวลาการดําเนินงานตามปกติ

ตัวอย่างหนี้สินไม่หมุนเวียน

  1. เงินกู้ระยะยาว เกิดจาการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยมีสัญญาการชําระเงินนานกว่า 1 ปี
  2. หุ้นกู้ กิจการจะแบ่งจํานวนเงินที่ต้องการกู้ยืมออกเป็นหุ้นโดยแต่ละหุ้นจะมีราคาเท่ากัน ราคาจะถูกกำหนดโดยกิจการเอง ผู้ถือหุ้นกู้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ และกิจการจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว

ส่วนของเจ้าของ

ส่วนของเจ้าของ แบ่งตามรูปแบบของหน่วยธุรกิจ ดังนี้

ส่วนของเจ้าของ

กิจการเจ้าของคนเดียว

เงินสดหรือสินทรัพย์อื่นที่เจ้าของกิจการนํามาลงทุนบวกกับผลกําไรที่เกิดขึ้น หักด้วยการถอนทุน และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ

ห้างหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วน เรียกว่า ส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน จะแสดงตามส่วนทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน ประกอบด้วย เงินสดหรือสินทรัพย์อื่นที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนนํามาลงทุนบวกผลกําไรสะสมที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งเกิดจาการประกอบธุรกิจ แต่ถ้ากรณีเกิดผลขาดทุนสะสมที่ยังไม่ได้แบ่งจะนํามาหักออก

บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด เรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย ทุนหุ้นสามัญ ทุนหุ้นบุริมสิทธิส่วนเกินมูลค่าหุ้น กําไร(ขาดทุน) สะสมส่วนที่จัดสรรและยังไม่ได้จัดสรร

รายได้

รายได้ หมายถึง จํานวนเงินสด ลูกหนี้ หรือผลตอบแทนที่กิจการได้รับมาจากการประกอบธุรกิจเป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

รายได้

รายได้โดยตรง

รายได้โดยตรง หมายถึง รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการค้า การขายสินค้า รายได้หลัก คือ รายได้จากการขาย การให้บริการ รายได้หลัก คือ รายได้จากการบริการ

รายได้อื่น

รายได้อื่น หมายถึง รายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโดยปกติ เช่นดอกเบี้ยรับ เงินปันผลรับ กําไรจากการขายสินทรัพย์ถาวร เป็นต้น

ค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่าย หมายถึง จํานวนเงินหรือสินทรัพย์ที่จ่ายไปเพื่อก่อให้เกิดรายได้จากการดําเนินงาน ได้แก่ ต้นทุนของสินค้าและบริการ ส่วนที่หักออกจากรายได้ในรอบระยะเวลาการแบ่งเป็น 3 ประเภท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร

ค่าใช้จ่าย

การทำหมวดบัญชี เป็นการแบ่งหมวดหมู่บัญชี และทำกำหนดเลขที่บัญชีในแต่ละหมวดหมู่ เพื่อช่วยให้การทำบัญชีแยกประเภทเกิดความละเอียด เรียบร้อยและง่ายต่อการทำบันทึกรายการค้า และเมื่อนำไปใช้อ้างอิงก็ยังสามารถนำไปใช้ได้ง่ายอีกด้วยค่ะ

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc

สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc

LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc

Tel: 082-254-6831