fbpx

ทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับ ใบรับเงินมัดจำ กันค่ะ

ใบรับเงินมัดจำ

เมื่อมีลูกค้าต้องการสินค้าของคุณในจำนวนที่มากขึ้น หรือราคาสินค้าของคุณนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ในระหว่างที่สินค้ากำลังจะมาถึงมือผู้ซื้อนั้น การเรียกเก็บเงินมัดจำและออกเอกสาร ใบรับเงินมัดจำ จึงถือว่าได้มีการทำสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นแล้ว เรามาทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับใบรับเงินมัดจำ

ใบรับเงินมัดจำ สำคัญอย่างไร

ใบรับเงินมัดจำ สำคัญอย่างไร

เงินมัดจำ ในทางกฎหมาย คำว่า “มัดจำ” ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว เป็นเงินที่ผู้ขายทำการเรียกเก็บเงินส่วนหนึ่งจากผู้ซื้อมักมีการเรียกเก็บเงินมัดจำในกรณีที่ผู้ซื้อต้องการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากหรือราคาสินค้านั้นมีมูลค่าค่อนข้างสูง โดยการเก็บเงินมัดจำมีความสำคัญเนื่องจาก

  1. การสร้างความมั่นใจว่าผู้ซื้อจะยังคงซื้อสินค้าหรือบริการ และรอจนผู้ขายสามารถส่งมอบสินค้าและบริการนั้นเรียบร้อยแล้ว 
  2. เงินมัดจำก้อนนี้ยังเป็นการรักษาสภาพคล่องและยังเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้แก่ผู้ขายหรือเจ้าของกิจการ เนื่องจากในระหว่างที่มีการจัดหาสินค้าให้แก่ผู้ซื้อนั้น ผู้ขายจะต้องมีการนำเงินก้อนบางส่วน เพื่อใช้ในการขอซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ และผู้ขายจะต้องจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์ก่อนที่จะได้รับเงินจากผู้ซื้ออีกที แต่ในระหว่างที่ผู้ซื้อจะต้องรอสินค้าจากซัพพลายเออร์ ผู้ขายก็ยังไม่ได้รับเงินจากผู้ซื้อเช่นเดียวกัน จึงทำให้เงินมัดจำตรงนี้ เป็นเงินก้อนที่ใช้เพื่อหมุนเวียนและรักษาสภาพคล่องของกิจการได้อีกด้วย 

เพราะฉะนั้นเงินมัดจำจึงมีความสำคัญว่าผู้ซื้อจะได้รับสินค้าเมื่อสินค้ามาถึงและผู้ขายมั่นใจว่าผู้ซื้อจะซื้อสินค้าต่อและยังช่วยเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่กิจการได้อีกด้วยนั่นเอง

ตัวอย่างในการเก็บมัดจำ

  1. มีลูกค้ามาสั่งทำชุดเก้าอี้ไม้ ราคา 15,000 บาท ผู้ขายขอเรียกเก็บเงินมัดจำ 20% ก่อนเพื่อทำสินค้าตามที่ลูกค้าสั่งและนัดวันส่งมอบสินค้าอีก 1 สัปดาห์
  2. ร้านของเล่นร้านหนึ่งรับพรีออเดอร์รถบังคับหายากจากญี่ปุ่น โดยมีการเรียกเก็บเงินมัดจำ 30% ก่อน และหากสินค้ามาถึงเมืองไทย แต่ลูกค้าไม่ซื้อสินค้านั้นแล้ว ทางร้านจะขอยึดเงินมัดจำแทน

การยึดเงินมัดจำ จะทำเมื่อไหร่

การยึดเงินมัดจำ จะทำเมื่อไหร่

การยึดเงินมัดจำได้ จะต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 378 มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

  1. ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
  2. ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
  3. ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาที่ตกลงกันไว้และหากมีการฟ้องร้องกันจริงก็ต้องดูเอกสารและข้อกฎหมายอื่น ๆ ประกอบกัน

ใบรับเงินมัดจำ ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ใบรับเงินมัดจำ ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ในการออกใบรับเงินมัดจำ เพื่อแสดงว่าได้มีการแสดงความต้องการซื้อสินค้าของผู้ซื้อและมีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย จะต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ข้อมูลผู้ขาย
  2. ข้อมูลผู้ซื้อ
  3. เลขที่เอกสาร
  4. วันที่เอกสาร
  5. รายละเอียดการรับเงินมัดจำ
  6. จำนวนเงินรวม
  7. ภาษีขาย
  8. อื่น ๆ

ความแตกต่างระหว่างเงินมัดจำ เงินล่วงหน้า เงินประกัน และเงินจอง

เงินที่ผู้ขายทำการเรียกเก็บเงินส่วนหนึ่งจากผู้ซื้อมักมีการเรียกเก็บเงินมัดจำในกรณีที่ผู้ซื้อต้องการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากหรือราคาสินค้านั้นมีมูลค่าค่อนข้างสูง ร้านค้าบางแห่งมีการเรียกเงินส่วนนี้แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

1. เงินมัดจำ

เงินที่ผู้ขายทำการเรียกเก็บเงินส่วนหนึ่งจากผู้ซื้อมักมีการเรียกเก็บเงินมัดจำในกรณีที่ผู้ซื้อต้องการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากหรือราคาสินค้านั้นมีมูลค่าค่อนข้างสูง และหากภายหลังที่สินค้ามาถึงแต่ผู้ซื้อไม่ต้องการสินค้านั้นแล้ว ผู้ขายมีสามารถยึดเงินก้อนนี้ได้

2. เงินล่วงหน้า

เงินที่ได้มีการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้าให้แก่ผู้ขาย จะมีการกำหนดเงื่อนไขก่อนตกลงซื้อขายโดยมีการกำหนดอัตราเป็น % ของราคาสินค้าตามที่ตกลง

3. เงินประกัน

เงินหรือทรัพย์สินที่กิจการให้ไว้เป็นการรับประกันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือสัญญา หากผิดเงื่อนไขหรือสัญญาจะมีการชดใช้ค่าเสียหายหรือสัญญา โดยวิธีการริบเงินประกันหรือเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัญญาหรือข้อตกลง

4. เงินจอง

เงินหรือทรัพย์สินที่จ่ายให้ก่อนที่จะทำสัญญาหรือข้อตกลงในภายหลัง เป็นหลักประกันเบื้องต้นว่าจะมีการทำสัญญาหรือข้อตกลงในการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่ง ณ วันทำสัญญาหรือข้อตกลงอาจจะมีการชำระเงินมัดจำค่าสินค้า หรือค่าบริการเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินจองแต่หากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการไม่มีการทำตามสัญญาหรือข้อตกลง อาจจะถูกริบ หรือยึดเงินจองดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

ใบรับเงินมัดจำ ถือเป็นเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าได้มีการตกลงซื้อขายสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายแล้ว โดยมีการจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ซื้อจะยังซื้อสินค้าหรือบริการนั้นจนกว่าจะจบกระบวนการซื้อขายสินค้าหรือได้รับบริการครบถ้วนแล้วนั่นเอง และในทางบัญชีเงินมัดจำถือเป็นหนี้สิน หรือรายได้รับล่วงหน้า คือ รายได้ที่ได้รับจากลูกค้าล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าหรือให้บริการลูกค้า ซึ่งกิจการมีภาระต้องให้บริการในอนาคตนั่นเองค่ะ

ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc

สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc

LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc

Tel: 082-254-6831