การอ่าน งบกระแสเงินสด ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบสภาพคล่องของธุรกิจได้ ช่วยให้เห็นภาพการเดินทางของเงินสดว่ามีการเข้าออกอย่างไร และมีเงินเหลือปลายปีเท่าไหร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนงบกระแสเงินสดเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันต่อค่ะ
หัวข้อเนื้อหา
1. งบกระแสเงินสด คืออะไร?
งบกระแสเงินสด คืองบการเงินที่แสดงกิจกรรมการเข้าออกของเงินสดว่ามีอะไรบ้าง โดยงบกระแสเงินสดแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมดังนี้
1.กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from Operating: CFO)
เป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กิจการหากกิจกรรมดำเนินงานเป็นบวก แสดงว่าคุณได้รับเงินสดจากกิจกรรมดำเนินการ เช่น การขายสินค้า บริการ หากกิจกรรมดำเนินงานเป็นลบ แสดงว่าคุณได้มีการจ่ายออกไป เช่น จ่ายค่าบริการ เงินเดือนพนักงาน ค่าวัตถุดิบต่าง ๆ เป็นต้น
2.กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (Cash Flow from Investing: CFI)
เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ระยะยาว เช่น ที่ดิน โรงงาน อุปกรณ์ เครื่องจักร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่หมุนเวียน โดยปกติกิจกรรมการลงทุนมักจะติดลบ เนื่องจากมีการลงทุนนั่นเอง
3.กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing: CFF)
เป็นกิจกรรมที่เป็นการหาเงิน โดยการกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน มีการจำหน่ายหุ้นทุน หลักทรัพย์หุ้นทุนอื่น หุ้นกู้ หรือมีการเพิ่มทุนจากเจ้าของ กิจกรรมการจัดหาเงินจะเป็นลบในกรณีที่มีการชำระหนี้เงินกู้ระยะยาว จ่ายเงินปันผล หรือจ่ายแก่ผู้เป็นเจ้าของเพื่อการซื้อหรือไถ่ถอนหุ้นทุนของกิจการ
2. การจัดทำงบกระแสเงินสด
ในการจัดทำงบกระแสเงินสด จะมีการทำอยู่ด้วยกัน 2 วิธีตามการแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ดังนี้
1. งบกระแสเงินสด โดยแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานทางตรง
วิธีแรกเป็นการจัดแสดงกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน ทั้งเงินสดรับและเงินสดจ่ายจากกิจกรรมดำเนินงานต่าง ๆ โดยวิเคราะห์รายการในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ปรับกระทบด้วยรายการอื่นที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ เข่น รายการที่ทำให้เกิดรายรับจากการขาย รายการเงินสดจ่ายค่าซื้อสินค้า เงินสดจ่ายจากการเกิดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน การจ่ายดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ เป็นต้น
2. งบกระแสเงินสด โดยแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานทางอ้อม
วิธีที่สองเป็นการจัดแสดงกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานทั้งเงินสดรับและเงินสดจ่าย โดยนำกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเตล็ดของปีนั้น ๆ ปรับกระทบด้วยรายการที่ไม่กระทบกับเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา กำไรหรือขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ แล้วปรับกระทบด้วยผลจากการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนที่เกี่ยวกับกิจกรรมดำเนินงานของกิจการ รวมไปถึงการจ่ายดอกเบี้ยจ่ายและการจ่ายภาษีเงินได้ของกิจการ
3. ประโยชน์ของงบกระแสเงินสดสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริหารของกิจการ
งบกระแสเงินสดนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการเห็นกิจกรรมเข้าออกของเงินสด งบกระแสเงินสดยังมีประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในด้านอื่น ๆ ดังนี้
- ช่วยให้เห็นสภาพคล่องในการดำเนินการได้
- สามารถนำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์เกี่ยวกับกิจกรรมเงินสดที่ผ่านมา
- เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวางแผนการทำงานในอนาคตได้
- ช่วยวางแผนการใช้จ่ายเงินในการประกอบกิจการ
- ช่วยให้ทราบถึงเงินสดที่มีอยู่ว่าเพียงพอต่อความต้องการกิจการหรือไม่
- ทำให้ทราบถึงความสามารถในการทำกำไรของกิจการ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบกับผลการดำเนินของกิจการประเภทเดียวกัน
- ช่วยให้ทราบโครงสร้างทางการเงินของกิจการว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- ช่วยให้ทราบการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสินทรัพย์สุทธิ
- เพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างระหว่างกำไรสุทธิตามเกณฑ์เงินสดหับกำไรสุทธิตามเกณฑ์ตกค้าง
งบกระแสเงินสดคืองบการเงินที่แสดงกิจกรรมเงินสดที่มีการเข้ามา และออกไปว่าเกิดจากกิจกรรมไหนบ้าง เน้นส่วนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเงินสด หรือรายการเทียบเท่าเงินสด ช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นถึงการใช้จ่ายเงิน และสภาพคล่องการเงินของกิจการได้ ว่าต้นปีมีเงินจำนวนนี้ ระหว่างปีมีกิจกรรมเข้าออกของเงินอย่างไรบ้าง สุดท้ายแล้วมีเงินเหลือปลายปีเท่าไหร่ หากงบกระแสเงินสดที่ดีเงินเหลือปลายปีจะต้องเพิ่มขึ้น ส่วนเงินจากการดำเนินงาน ควรจะต้องเป็นบวกอยู่เสมอ เพื่อให้กิจการมีสภาพคล่องที่ดีต่อไปค่ะ
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831