
ภาษีป้ายร้านค้า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่เปิดร้านค้าหรือค้าขายออนไลน์ที่ต้องรู้ และจะต้องมีการเสียภาษีซึ่งเป็นเรื่องปกติ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีโรงเรือน และหากมีป้ายร้านค้า จำเป็นจะต้องเสียภาษีป้ายร้านค้าเช่นเดียวกัน โดยในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีป้ายร้านค้ากันค่ะ
ภาษีป้ายร้านค้า คืออะไร?

ภาษีป้ายร้านค้า คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณา โดยป้ายที่มีลักษณะแสดงชื่อ ยี่ห้อ และเครื่องหมายการค้า สำหรับการประกอบกิจการ การทำการค้าหรือโฆษณาเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของตัวอักษร ภาพ หรือสัญลักษณ์ บนวัสดุใดๆ ก็ตาม ด้วยการเขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีการอื่นๆ ก็ตาม
ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษีมีอะไรบ้าง?
- ป้ายที่ติดภายในอาคาร
- ป้ายที่มีการเลื่อนเข้าเลื่อนออก (ป้ายที่มีล้อ)
- ป้ายของราชการ
- ป้ายโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชน
- ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ
- ป้ายที่ติดไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนน รถแทรกเตอร์
- ป้ายที่ติดไว้ที่ยานพาหนะอื่น โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม.
อัตราภาษีป้ายร้านค้า
อัตราภาษีป้ายร้านค้า ได้มีการประกาศอัพเดตใหม่จากเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2535 และเริ่มใช้อัตราภาษีป้ายร้านค้าใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา โดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายไว้ดังนี้
1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
1.1 ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม.
1.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 1.1 อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ
2.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 2.1 อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ
หรือไม่และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
3.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 3.1 อัตราภาษีป้าย 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
โดยเจ้าของป้ายร้านค้า ผู้ครอบครองป้ายจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี (แบบ ภ.ป.1) โดยมีเอกสารประกอบดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ทะเบียนการค้า
- หนังสือรับรองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (กรณีนิติบุคคล)
- รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดกว้าง x ยาว
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
ยื่นเอกสารภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี หากติดตั้งป้ายใหม่หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในป้าย ต้องยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ติดตั้งใหม่หรือที่เปลียนแปลงข้อความใหม่ หากเจ้าของป้ายได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษี (แบบ ภ.ป.3) ให้ชำระภาษีภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน
คำนวณภาษีป้ายร้านค้าอย่างไร

หากป้ายภาษีร้านค้าของคุณไม่เข้าข่ายป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้ายร้านค้า จะต้องมีการเสียภาษี โดยสามารถคำนวณภาษีป้ายร้านค้าด้วยตัวเองดังนี้
1.กว้าง x ยาว / พื้นที่ 500 ตร.ซม. = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี
2.พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษี = ภาษีป้ายที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณภาษีป้ายร้านค้า
1. คำนวณพื้นที่ที่ต้องเสียภาษี
ป้ายร้านค้าเป็นป้ายอักษรไทยล้วน ขนาด กว้าง 1 เมตร ยาว 2.5 เมตร
คำนวณได้ดังนี้ 100 x 250 ซม. / 500 ตร.ซม. = 50 ตร.ซม.
2. คำนวณภาษีป้ายร้านค้าที่ต้องจ่าย
คำนวณได้ดังนี้ 50×10 = 500 บาท
จ่ายภาษีป้ายร้านค้าที่ไหนดี

1. กรุงเทพฯ ได้แก่ สำนักงานเขต และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
2. ต่างจังหวัด ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองพัทยา เขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล เขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเขตเมืองพัทยา ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
3. เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย
หากไม่จ่ายภาษีป้ายร้านค้า จะมีโทษอย่างไร

ภาษีป้ายร้านค้า เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่มีร้านค้าและป้ายร้านค้า จะต้องเสียภาษีป้ายร้านค้าซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าป้ายจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ และไม่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นการเสียภาษีป้ายร้านค้าก็จะต้องมีการเสียภาษีป้ายร้านค้า หากมีเจตนาหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีป้ายร้านค้า จะมีอัตราค่าปรับดังต่อไปนี้
1. อัตราค่าปรับหากไม่จ่ายภาษีป้ายร้านค้า
1.1ไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับ 10% ของค่าภาษี
1.2 ไม่ชำระเงินค่าภาษี หลังจากที่ยื่นแบบภายใน 15 วัน จะต้องเสียค่าปรับ 2% ของค่าภาษี
1.3 ถ้ายื่นภาษีไม่ตรงตามความเป็นจริง จะต้องเสียค่าภาษีที่ขาดไป และเสียค่าปรับอีก 10% ของค่าภาษี
2. บทลงโทษถ้าหากไม่จ่ายภาษีป้ายร้านค้า
2.1 จงใจไม่ยื่นแบบประเมินภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท
2.2 ไม่เสียภาษีป้ายร้านค้า ภายในกำหนด ต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท
2.3 ไม่แจ้งการรับโอนป้าย หรือไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้าย ณ สถานประกอบการค้าหรือสถานประกอบการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท
2.4 แจ้งความหรือให้การเท็จ เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภาษีป้ายร้านค้า เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านและทำป้ายร้านค้าควรทำความเข้าใจว่า ป้ายภาษีแบบไหนต้องเสียภาษี และเสียภาษีเท่าไหร่ เพื่อคุณจะได้มีการเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและไม่ถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังและต้องเสียค่าปรับอีกด้วยค่ะ
Ref: http://www.phuketlocal.go.th/files/download/20190103095336sdmgh.pdf
ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831