ในการมอบอำนาจเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการแทนจะใช้หนังสือมอบอำนาจทั่วไปในการทำธุรกรรมต่างๆ แทนเรา แต่ในบางหน่วยงานจะมีหนังสือมอบอำนาจที่เป็นแบบฟอร์มเฉพาะเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมนั้นๆ เช่น การทำธุรกรรมเกี่ยวที่ดิน โดยทำใบมอบอำนาจที่ดิน วันนี้เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับใบมอบอำนาจที่ดินกันค่ะ
หัวข้อเนื้อหา
ใบมอบอำนาจที่ดิน คืออะไร
ใบมอบอำนาจที่ดิน หรือหนังสือมอบอำนาจที่ดิน คือ เอกสารสำคัญที่ใช้ในการทำนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับโฉนดที่ดิน เป็นการมอบอำนาจให้ผู้อื่นสามารถดำเนินการแทนเจ้าของโฉนดที่ดินได้ หากคุณจำเป็นต้องมีการทำธุรกรรมกับกรมที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายที่ดิน การขายฝากที่ดิน หรือการจดจำนองที่ดิน แต่ไม่สามารถไปดำเนินการทำนิติกรรมต่าง ๆ ได้เอง ก็สามารถมอบอำนาจผ่านใบมอบอำนาจที่ดินได้
ใบมอบอำนาจที่ดิน มีรายละเอียดอะไรบ้าง
- ระวางที่ดิน ข้อมูลตัวเลขที่อยู่ด้านมุมซ้ายบนสุดของโฉนด โดยจะประกอบไปด้วยตัวเลขและตัวอักษร ทั้งนี้โฉนดแต่ละชนิด และแต่ละใบจะมีความแตกต่างกัน
- ตำบล ที่อยู่ของที่ดินในโฉนดเท่านั้น
- เลขที่ เลขที่ของโฉนดอยู่ที่มุมซ้ายข้างล่างเลขระวาง
- หน้าสำรวจ เลข 4 ตัวที่ระบุไว้ในโฉนด อยู่มุมบนซ้ายของโฉนด
- อำเภอ ที่อยู่ของที่ดินในโฉนดเท่านั้น
- โฉนดหมายเลขที่ หมายเลขโฉนดเป็นเลข 1-5 หลัก อยู่บริเวณมุมขวาบนของโฉนด
- จังหวัด จังหวัดตามในโฉนด ต้องกรอกให้ตรงกับที่โฉนดออกไว้
- เขียนที่ สถานที่เขียนหนังสือมอบอํานาจที่ดิน
- วันเดือนปีที่เขียนหนังสือมอบอํานาจที่ดิน
- ข้อมูลชื่อ สกุล ที่อยู่ ของผู้มอบอำนาจ
- ข้อมูลชื่อ สกุล ที่อยู่ ของผู้รับมอบอำนาจ
- รายละเอียดที่ต้องการมอบอำนาจ
- ประทับลายนิ้วมือ กรณีที่ผู้มอบอำนาจเซ็นรายมือชื่อในหนังสือมอบอํานาจที่ดินไม่ได้ สามารถประทับลายนิ้วมือของผู้มอบอำนาจ ด้วยนิ้วหัวแม่มือซ้าย (ต้องทำต่อหน้าพยาน)
- ลายเซ็นผู้มอบอำนาจ (ต้องทำต่อหน้าพยาน)
- พยานจำนวน 2 คน
แหล่งที่มา: กรมที่ดิน
โดยเอกสารที่ใช้ควบคู่กับใบมอบอำนาจ ได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง ของผู้ให้หนังสือมอบอำนาจที่ดิน ทะเบียนบ้านตัวจริง ของผู้ให้หนังสือมอบอำนาจที่ดิน
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ใบมอบอำนาจที่ดิน
- ระบุประเภทของอสังหาริมทรัพย์ให้ถูกต้องชัดเจน
- ระบุขอบเขตอำนาจของการจัดการและดำเนินการแทนในหนังสือมอบอํานาจที่ดินอย่างชัดเจน
- ใช้ปากกาสีเดียวกัน และการลงลายมือชื่อในแต่ละครั้งต้องลงให้เหมือนกันหากเป็นการพิมพ์ ก็ควรใช้แบบอักษรเดียวกัน ขนาด-ความหนาเท่ากัน
- หากมีการขูด ขีด ฆ่า แต่งเติม หรือแก้ไข จะต้องเซ็นกำกับจุดที่มีการแก้ไขดังกล่าวด้วย
- ห้ามลงชื่อในใบมอบอำนาจที่ดินที่ยังไม่มีการกรอกข้อมูลใดเด็ดขาด
- มีพยานอย่างน้อย 1 คน ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือ ต้องมีพยาน 2 คน โดยพยานต้องเซ็นชื่อ จะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ ถ้าภรรยาเป็นผู้รับมอบอำนาจต้องให้สามีลงชื่อเป็นพยานและให้บันทึกความยินยอมเป็นหนังสือด้วย
- สำหรับหนังสือมอบอำนาจที่ดินที่ทำในต่างประเทศ ควรให้สถานทูตหรือสถานกงสุลหรือ Notary Public (อ่านว่า โนตารีปับลิก หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่รับสาบานและรับรองเอกสารบางอย่างโดยการลงลายมือชื่อและประทับตรา เพื่อให้เอกสารมีความน่าเชื่อถือและใช้ยืนยันในต่างประเทศได้) รับรองเอกสารด้วย
ใบมอบอำนาจที่ดิน มีอายุการใช้งานกี่วัน
โดยทั่วไปแล้วใบมอบอำนาจทั่วไปรวมไปถึงใบมอบอำนาจที่ดินจะไม่มีวันหมดอายุ นอกจากเกิดกรณีดังต่อไปนี้จะทำให้ใบมอบอำนาจนั้นหมดอายุการใช้งาน ดังนี้
- เมื่อผู้มอบอำนาจมีการกำหนดอายุการใช้งานของใบมอบอำนาจที่ดิน โดยมากมักมีระยะเวลา 1 หรือ 2 เดือนหลังจากลงนามในสัญญาซื้อขาย
- เมื่อผู้มอบอำนาจมีการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการใดได้บ้าง เช่น ซื้อหรือขายที่ดินเท่านั้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกฉ้อโกงจากผู้รับมอบอำนาจได้
- มีการถอดถอนผู้รับมอบอำนาจ
- ผู้รับมอบอำนาจบอกเลิกการเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจ
- ผู้มอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจเสียชีวิต
- ผู้มอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลาย
ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจที่ดิน
การออก ใบมอบอำนาจที่ดิน ให้ผู้อื่นไปกระทำการแทน ย่อมมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ดังนั้นคุณในฐานะผู้มอบอำนาจหรือเรียกว่าตัวการ จะต้องเลือกคนที่คุณไว้ใจในการเป็นผู้รับมอบอำนาจ มีการกำหนดวันสิ้นสุด รวมไปถึงเงื่อนไขในใบมอบอำนาจที่ดินตั้งแต่แรก และตรวจสอบความถูกต้องของการกรอกรายละเอียดในใบมอบอำนาจ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองค่ะ
ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831