
แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ คือเอกสารแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย และยังเป็นเอกสารแสดงข้อมูลรายได้ว่ามาจากที่ใดของบางอาชีพที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้อีกด้วย เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่ายให้มากขึ้นกันค่ะ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ก่อนอื่นเราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือ ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย กันก่อน เป็นภาษีรูปแบบหนึ่งโดยสรรพากรได้กำหนดให้กิจการแต่ละประเภท มีการหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายในจำนวนที่แตกต่างกันโดยหักตามอัตราก้าวหน้าที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งผู้ที่มีเงินเดือนจะพบว่าเงินเดือนที่เราได้รับนั้นบางส่วนถูกหักออกไป รวมไปถึงเงินประกันสังคม และเงินที่นายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน โดยผู้ที่ทำงานประจำจะได้รับแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีต่อไป
แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คืออะไร

หลายคนเรียกแบบฟอร์ม ณ ที่จ่าย หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายว่า 50 ทวิ คือ เอกสารแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้ทำการหักไปแล้วในปีภาษี โดยแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้รับเงิน 2 ฉบับ ที่มีข้อความตรงกัน โดยต้องมีข้อความด้านบนของแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย แต่ละฉบับดังนี้
- ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายใช้แนบพร้อมกับแสดงรายการ”
- ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐาน”
หลังจากที่ได้รับแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ผู้ถูกหักภาษีควรจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในการลดภาษีหรือการขอคืนภาษี โดยข้อมูลที่ต้องตรวจสอบได้แก่
- ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย
- ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
- วันเดือนปีที่จ่ายเงิน
- จำนวนเงินที่จ่ายและจำนวนภาษีที่ได้มีการหักและนำส่งภาษี
- ลายมือชื่อผู้จ่ายเงิน
แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย จะออกให้ตอนไหน

เนื่องจากแบบฟอร์มหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษี ภงด.91 เพราะฉะนั้นแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) บริษัทหรือฝ่ายบุคคลจะต้องออกให้พนักงานถายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดจากที่มีการหัก ณ ที่จ่าย หรือภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ผู้ถูกหัก ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษี
วิธีการออก แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย
ในการออกแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จะมีขั้นตอนในการออกแบบฟอร์ม ณ ที่จ่ายดังนี้
- แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย นอกจากจะออกแบบฟอร์ม 2 ฉบับแล้ว จะต้องมีการออกสำเนาคู่ฉบับที่ 3 สำหรับเป็นหลักฐานในกรณีที่ได้มีการแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วแต่เกิดสูญหายหรือชำรุด ให้ผู้ที่ออกแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย ออกใบแทนได้ โดยการถ่ายสำเนาฉบับที่ 3 ระบุข้อความว่า “ใบแทน” ด้านบนของสำเนา และลงลายมือชื่อของผู้ออกใบแทนไว้เป็นหลักฐาน
- ทำการระบุประเภทของเงินได้พึงประเมินที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายในแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่ายด้วย
- เงินได้พึงประเมินประเภทประเภทเงินเดือนที่มีการหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สามารถระบุจำนวนเงินที่หักในแบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่ายได้
- การลงชื่อของผู้หัก ณ ที่จ่ายสามารถลงด้วยการประทับตรายางและลงลายมือชื่อจริงหรือการพิมพ์คอมพิวเตอร์ที่ได้ทำการเก็บลายมือชื่อไว้แล้วได้เช่นกัน
ดาวน์โหลด แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย ไว้ยื่นภาษีออนไลน์
แบบฟอร์มหัก ณ ที่จ่าย หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการยื่นภาษี ภงด.91 รวมไปถึงยังเป็นเอกสารแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของรายได้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ใบ 50 ทวิ นั่นเองทั้งนี้หากได้รับแบบฟอร์มมาแล้วควรตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องข้อมูล เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในการยื่นภาษีต่อไปค่ะ
ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831