เราได้กล่าวถึงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมในบทความที่ผ่านมาว่ามีความสำคัญต่อเจ้าของกิจการและผู้ประกันตนอย่างไรบ้าง ในบทความนี้เราจะมาอธิบายต่อถึงการ ส่งเงินสมทบประกันสังคม ว่ามีวิธีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เงินแต่ละบาทที่เราส่งให้ประกันสังคมเราจะได้คืนเมื่อไหร่? ตามมาอ่านกันได้เลยค่ะ
หัวข้อเนื้อหา
เงินสมทบ คืออะไร
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ในอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยสามารถแสดงตารางอัตราการหักเงินสมทบประกันสังคมดังนี้
โดยเจ้าของกิจการจะต้องมีการส่งเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของพนักงาน และส่วนที่เจ้าของกิจการสมทบให้กับพนักงานตามแบบ สปส.1-10 โดยจะต้องนำส่งในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หลังจากที่ได้มีการยื่นเอกสารเพื่อนำส่งประกันประกันสังคมครั้งแรก
การคำนวณเงินที่ต้องจ่ายในการส่ง เงินสมทบประกันสังคม
การคำนวณเงินเพื่อนำส่งเงินสมทบประกันสังคม สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ จะคำนวณจากฐานของเงินค่าจ้างพนักงานขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท พนักงานจะถูกหักจากเงินเดือน 5% + เจ้าของธุรกิจจ่ายสมทบ 5% + รัฐบาลร่วมจ่ายสมทบ 2.75% ตามตารางข้างต้น แล้วเงิน 5% ที่หักไปทำอะไรบ้าง
- 1.5% ประกันเจ็บป่วย ตาย
- 0.5% ประกันการว่างงาน
- 3% ประกันชราภาพ
หากผู้ประกันตนมีการส่งเงินสมทบประกันสังคมสูงสุดที่ 750 บาท เงิน 5% ที่ถูกหักออกไปจะคิดได้ตามนี้
- 1.5% = 225 บาทจะประกันเจ็บป่วย ตาย
- 0.5% = 75 บาท จะประกันการว่างงาน
- 3% = 450 บาท จะประกันชราภาพ
แต่บางเดือนทางประกันสังคมจะมีการออกมาตรการลดค่าครองชีพให้กับนายจ้าง เพื่อช่วยให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมน้อยลง เช่น ช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา จะมีการปรับลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม เหลือ 1%
ตัวอย่างการคำนวณการส่งเงินสมทบประกันสังคม
ให้เงินเดือนพนักงาน 17,500 บาท (คำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ดังนั้นเงินประกันสังคมที่จะต้องยื่นคือ 5% เท่ากับ 15,000 x 5% = 750 บาท ส่วนนายจ้างจ่ายสมทบเพิ่มอีกหนึ่งเท่า รวมเป็น 750+750 = 1,500 บาท
เมื่อไหร่ที่จะได้รับเงินคืนจากประกันสังคม
เมื่อเรามีการส่งเงินสมทบประกันสังคมไปแล้ว เราจะได้รับเงินคืนจากที่มีการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมไปมากน้อยเท่าไหร่นั้น จะขึนอยู่กับจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ อายุ และสถานะความเป็นผู้ประกันตน ซึ่งรูปแบบการได้รับเงินเกษียณคืนจากกองทุนประกันสังคมมี 3 กรณี ดังนี้
1. ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินเกษียณอายุจากกองทุนประกันสังคมเป็นเงินรายเดือนใช้ตลอดชีวิต สามารถเทียบได้จากตารางนี้
2. จ่ายเงินสมทบมากกว่า 1 ปี หรือ 12 เดือน แต่ไม่เกิน 180 เดือนและมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินสมทบของตนเอง + เงินสมทบในส่วนของนายจ้างและรัฐบาล + ผลประโยชน์ตอบแทน (ผลกำไรจากกองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุน)
3. จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือนและมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินเกษียณจากกองทุนประกันสังคมเป็นเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินที่จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนท่านหนึ่ง จ่ายเงินสมทบของตนเอง 450 บาท/เดือน เป็นเวลารวม 11 เดือน ดังนั้นผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 450*11 หรือ 4,590 บาท
สิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจะได้รับมีอะไรบ้าง
ประกันสังคม เป็นการสร้างหลักประกันทางด้านการดำรงชีวิตของผู้ประกันตน โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนโดยจะกล่าวถึง มาตรา 33 ของคนทำงานประจำ จะได้รับนั้นมีหลายกรณีดังต่อไปนี้
1. กรณีเจ็บป่วย
ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิ โดยไม่ต้องมีการสำรองจ่ายแต่อย่างใด ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน หรือหากประสบอุบัติเหตุสามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ทุกแห่งภายใน 72 ชั่วโมงไม่ต้องสำรองจ่าย นอกจากนี้ยังสามารถรับบริการทันตกรรม ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุดจ่ยตามจริงไม่เกิน 900 บาท/ปี เป็นต้น
2. กรณีคลอดบุตร
ไม่ว่าผู้ประกันตนจะเป็นชายหรือหญิง ก็สามารถรับเงินค่าคลอดบุตรได้ หากผู้ประกันตนหญิง ได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ไม่จำกัดสถานพยาบาลและจำนวนครั้ง พร้อมรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน (สำหรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง) หากเป็นผู้ประกันตนชาย ภรรยาที่จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท และยังสามารถเบิกค่าตรวจและฝากครรภ์ได้สูงสุด 1,500 บาท
3. กรณีทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ ทุพพลภาพระดับเสียหายไม่รุนแรง รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 30% หรือในส่วนที่ลดลง ไม่เกิน 30% ของค่าจ้างรายวันตามมาตรา 57 ไม่เกิน 180 เดือน หากทุพพลภาพระดับเสียหายรุนแรง รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายวันตามมาตรา 57 ตลอดชีวิต รวมไปถึงค่าบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ
4. กรณีเสียชีวิต
ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิตจึงจะได้รับสิทธิ หากมีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท หรือจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท
5. กรณีชราภาพ
ประกอบด้วย เงินบำนาญชราภาพ และเงินบำเหน็จชราภาพ
6. กรณีสงเคราะห์บุตร
รับเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 800 บาท/เดือน โดยต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
7. กรณีว่างงาน
ว่างงาน จะแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีถูกเลิกจ้าง รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 70% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วัน กรณีลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 45% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 1 มี.ค. 63 – 28 ก.พ. 65) และกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
*ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน จึงจะได้รับสิทธิ
ในส่วนของผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบการ ส่งเงินสมทบประกันสังคม ได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th โดยทำการสมัครสมาชิกก่อนหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น SSO Connect ลงในมือถือ จะสามารถตรวจสอบข้อมูลการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมง่ายมากขึ้นค่ะ
ติดตามบทความอื่นๆ ของ KMCP Accounting ได้ที่:
บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/
Facebook: facebook.com/kmcp.acc
สนใจอยากทำบัญชีทักมาได้เลย: m.me/kmcp.acc
LINE: https://line.me/R/ti/p/@kmcp.acc
Tel: 082-254-6831