fbpx

รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับ ภ.ง.ด. 3 และ ภ.ง.ด. 53 เรามีคำตอบ!

ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53

ว่ากันว่าเรื่องของการหักภาษี ณ ที่จ่ายคือการที่ผู้จ่ายเงินได้หักเงินของผู้รับเงินไว้ทันทีที่จ่ายเงิน ตามอัตราที่กำหนดและนำเงินที่หักไว้นำส่งกรมสรรพากร ซึ่งผู้รับสามารถนำยอดเงินที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นี้ไปรวมกับภาษีที่จ่ายตอนปลายปี ถ้าคำนวณแล้วจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเกินต้องชำระเงินเพิ่ม แต่ถ้าจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายน้อยกว่าก็สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจระหว่าง ภ.ง.ด.3 กับ ภ.ง.ด.53 คืออะไร แล้วถ้าไม่ยื่นแบบจะมีความผิดอะไรบ้าง ลองไปอ่านกันเลยครับ

1. ภ.ง.ด. 3 คืออะไร?

ภ.ง.ด. 3 เป็นแบบยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้รับเงินซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้

2. ภ.ง.ด. 53 คืออะไร

ภ.ง.ด. 53 เป็นแบบยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้รับเงินซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นนิติบุคคลที่มีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้

3. เงินได้ประเภทไหนบ้างที่ต้องยื่นแบบ

1. ประเภทเงินได้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.3

  1. เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
  2. เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ได้แก่ กฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม 
  3. เงินได้จากการรับเหมา โดยผู้รับเหมาเป็นผู้ลงทุนในการจัดหาสิ่งของเพิ่มเติมนอกจากเครื่องมือที่มีอยู่
  4. เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง 

ประเภทเงินได้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.53

  1. เงินได้จากค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณา ค่านายหน้า การให้เช่าทรัพย์สินเช่น ที่ดิน,อาคาร, เครื่องจักร, รถยนต์  เป็นต้น การประกอบวิชาชีพอิสระ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เงินปันผล เป็นต้น 
  2. เงินได้จากมาตรา 40 (8) เฉพาะกรณีที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่นๆที่นอกเหนือจากข้อ (1) 
  3. เงินได้จากการประกันวินาศภัยเฉพาะกรณีที่จ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในประเทศไทย 
  4. เงินได้จากการขนส่งซึ่งไม่รวมการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ

4. คนที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องทำอะไรบ้าง

  1. ขอข้อมูลผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ ชื่อที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 
  2. ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงินได้ในอัตราที่กำหนดตามประมวลรัษฎากร 
  3. จัดทำหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ที่ถูกหักภาษีทุกครั้งที่ทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย
  4. ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายยื่นแบบภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 พร้อมนำส่งภาษีที่หักไว้ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน 

วิธีการยื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย

  1. เลือกยื่นแบบด้วยตนเอง ณ ที่ทำการสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสาขาในท้องที่ที่ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายมีสำนักงานตั้งอยู่
  2. เลือกยื่นแบบและชำระภาษีผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องสมัครสมาชิกกับทางเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อนถึงจะยื่นแบบได้ การยื่นแบบทางออนไลน์จะได้รับสิทธิพิเศษให้ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีออกไปอีก 8 วัน 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ยื่นแบบภาษีเงินได้

  1. ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มิได้หักและนำส่ง หรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้โดยต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้หัก และนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้แล้วแต่ไม่ได้นำส่ง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชอบชำระภาษีจำนวนนั้นทั้งหมด
  2. ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่นำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่หักนำส่งภายในกำหนดเวลาจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯ จนถึงวันยื่นแบบฯและนำส่งภาษี ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หากไม่ยื่นแบบฯนี้ภายในกำหนดเวลา เว้นแต่จะแสดงว่าได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  3. ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ใช่เรื่องยาก จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ไว้นะครับ ในวันนี้เรามาไขข้อข้องใจให้แล้วระหว่าง ภ.ง.ด.3 กับ ภ.ง.ด.53 หวังว่าจะได้ความรู้ไปไม่มากก็น้อยนะครับ

ติดตามบทความอื่นๆของ KMCP Accounting ได้ที่

บทความ: https://www.kmcpaccounting.com/บทความ/

Facebook: facebook.com/kmcp.acc